ความเป็นมาของปลากระป๋อง
ในปี 1795 ชาวฝรั่งเศสนามว่า Nicolas Appert ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาผู้ให้กำเนิดวิธีการบรรจุกระป๋อง’ ได้พยายามทดลอง เพื่อค้นหาวิธีถนอมอาหารด้วยการบรรจุปลาไว้ในขวดแก้ว จากนั้นก็นำขวดแก้วไปไว้ในน้ำเดือด ในขณะนั้น ผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะวิธีการดังกล่าวสามารถทำให้อาหารไม่เน่าเร็วและยืดอายุของอาหารไปได้นานพอสมควร
สงครามนโปเลียน (1803–1815) เนื่องจากในช่วงต้น ๆ ของสงคราม รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามหาวิธีถนอมและลำเลียงอาหารไปยังกองทัพแนวหน้าที่มีประสิทธิภาพที่สุด รัฐบาลประกาศว่าหากใครสามารถเสนอวิธีการถนอมอาหารได้ ก็จะได้รับรางวัลเป็นเงินมูลค่า 12,000 ฟรังก์ Appert เห็นโอกาสในการเผยแพร่งานของตน จึงได้ส่งวิธีการถนอมอาหารที่ตนเองเพิ่งค้นพบไปเมื่อไม่กี่ปีก่อนให้กับรัฐบาล ปรากกฎว่ารัฐบาล ‘ซื้อ’ ไอเดียของ Appert ส่งผลให้วิธีการถนอมอาหารแบบบรรจุลงในขวดเป็นที่รู้จักมากขึ้น
การใช้ ‘ขวดแก้ว’ เป็นภาชนะบรรจุอาหารนั้นยังสร้างปัญหาอยู่มาก ตัวอย่างเช่น การแตกหักของขวดแก้วระหว่างการเดินทาง เป็นต้น ต่อมาในเวลาไม่นาน นักประดิษฐ์และพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อว่า Peter Durand ได้เสนอให้ใช้ภาชนะชนิดใหม่ในการบรรจุอาหาร ซึ่งก็คือ ‘กระป๋อง’ นั่นเอง ปรากฏว่าการใช้กระป๋องในการบรรจุส่งผลให้ลดปัญหาเรื่องการขนส่งไปเยอะทีเดียว
การผลิตปลากระป๋อง เราพบว่าในทศวรรษ 1830 พ่อค้าในประเทศสก็อตแลนด์เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่นำปลามาบรรจุในกระป๋อง เพื่อลำเลียงและไปขายยังตลาด ซึ่งในตอนแรกลูกค้าก็ยังไม่ค่อยมั่นใจในสินค้านี้เท่าไหร่ แต่เมื่อได้ลองชิมแล้ว ปรากฏว่าคุณภาพของปลากระป๋องเป็นที่น่าพอใจ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะกระบวนการผลิตสามารถรักษาคุณค่าของเนื้อปลาได้อย่างดี พร้อม ๆ กับยังยืดอายุเนื้อปลาไปได้นานมาก ๆ ทำให้เลือกเก็บไว้กินเมื่อไหร่ก็ได้
ในตอนแรกต้นทุนการทำอาหารกระป๋องรวมถึงปลากระป๋องยังแพงอยู่ ทำให้มีแต่คนรวยเท่านั้นที่เข้าถึง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนการผลิตเริ่มลดลง ประกอบกับชนิดของปลาก็เริ่มหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า หรือแม้กระทั่งปลาแม็คเคอเรล จึงทำให้ความนิยมในการกินปลากระป๋องแพร่กระจายไปทั่วยุโรป รวมถึงพื้นทวีปอเมริกาเหนือด้วย
หลังจากการมาเยือนของปลากกระป๋องแซลมอนในทวีปอเมริกาเหนือ (เริ่มที่ประเทศแคนาดา) ในทศวรรษ 1840 อุตสาหกรรมการทำปลากระป๋องก็บูมขึ้นอย่างเทน้ำเทท่า นี่ส่งผลให้นักธุรกิจเห็นช่องทางในการทำธุรกิจปลากระป๋อง และเริ่มอยากจะเข้ามาในตลาดนี้กันมากขึ้น แต่ปัญหาคือ ตลาดปลากระป๋องในอเมริกาเหนือและยุโรปล้วนมีคู่แข่งกันเยอะ