รวมเด็ด "อาหารอีสาน"
อาหารอีสาน คือ อาหารพื้นเมือง อาหารพื้นบ้าน ชาวอีสาน เอกลักษณ์ของอาหารอีสาน คือ ส้มตำ ลาบ ข้าวเหนียว และ ปลาร้า อาหารอีสาน ได้รับความนิยมในประเทศไทย ร้านอาหารอีสาน มีอยู่ทั่วไป รวมสูตรอาหารต่างๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูตรอาหารที่ทำกินเองที่บ้านได้
ลักษณะของอาหารอีสาน
ด้วยพื้นที่ของภาคอีสานเป็นที่ราบสูง โดยมีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และ แม่น้ำมูล เป็นแหล่งอาหารหลัก และ ในบางพื้นที่มีความแห้งแล้ง อาหารของภาคอีสานจะมีการถนอมอาหารจากปลา เช่น ปลาร้า เป็นเครื่องปรุงอาหาร คนอีสานรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก และ รสชาติของอาหาร จะมีรส เค็ม เผ็ด และเปรี้ยว เป็นอาหาร อาหารขึ้นชื่อของอาหารอีสาน เช่น ส้มตำ ลาบ ซุปหน่อไม้ ไส้กรอก หม่ำ ไม่นิยมใส่กะทิในอาหาร อาหารพื้นเมืองอีสาน จะมีวัตถุดิบหลากหลาย ซึ่งวัตถุดิบบางอย่างไม่เป็นที่นิยมทั่วไป เช่น ไข่มดแดง จิ้งหรีด ตั๊กแตน ดักแด้ แมงกุดจี่ ปูนา กบ เขียด อึ่ง แย้ งู หนูนา เป็นต้น
เอกลักษณ์ของอาหารอีสาน
ภาคอีสานของประเทศไทยเป็นดินแดนที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้อาหารพื้นเมืองจึงเป็นอาหารพวกแมลงหลายชนิด ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรในภาคนี้ อาหารอีสานส่วนใหญ่จะมีข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ส่วนพืชผัก และเนื้อสัตว์ที่นำมาใช้ประกอบอาหารได้มาจากภายในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ มักใช้ปลาร้าเป็นเครื่องปรุงรสในอาหารเกือบทุกชนิด แต่ไม่นิยมใส่ในอาหารประเภทผัด และมักรับประทานคู่กับผักสด อาหารประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซุปหน่อไม้ น้ำพริกปลาร้า ลาบหมู ไส้กรอกหมู อ่อมปลาดุก
- ส้มตำ
เมนูที่ทุกคนทั่วโลกรู้จักจานนี้มาในหลากหลายรูปแบบ ลูกอีสานบางคนยืนยันว่าส้มตำจะขาดปลาร้าไม่ได้ แต่หัวใจของจานนี้อยู่ที่เส้นมะละกอดิบที่ต้องสดกรอบ ก่อนนำมาตำกับมะเขือเทศ พริก และกระเทียม ตำปลาร้าฉบับอีสานแท้ ๆ โดดเด่นด้วยกลิ่นแรงจากปลาร้า รสนัวจากมะกอก และความกรอบจากเม็ดกระถิน ถ้าใจยังไม่ถึงพออาจลองตำไทยที่คนภาคกลางนำมาปรับให้กินได้ง่ายขึ้นก่อนได้ รสชาติออกเปรี้ยวหวานจากน้ำตาลปี๊บและน้ำมะนาว ผสานรสเค็มจากน้ำปลาและกุ้งแห้ง ความกรอบก็ยังมีอยู่ แต่ใช้ถั่วลิสงแทนเม็ดกระถิน นอกจากตำปลาร้าและตำไทยแล้ว ยังมีตำซั่ว (ส้มตำ ผสมเส้นขนมจีน) ตำข้าวโพด ตำแตง ตำผลไม้ และอื่น ๆ ตามแต่ร้านจะสร้างสรรค์ ทุกแบบเพิ่มความอร่อยได้ด้วยการจกคู่ ข้าวเหนียว หรือ ขนมจีน
- ลาบ
อาหารอีสานขึ้นชื่ออีกจาน ทำจากเนื้อสัตว์บดคลุกกับข้าวคั่ว หอมแดง ต้นหอม ใบสะระแหน่ เสริมรสด้วยพริก น้ำมะนาว และน้ำปลาหรือปลาร้า เนื้อที่ใช้โดยมากจะเป็นหมู วัว ไก่ หรือเป็ด แต่บางพื้นที่ก็ใช้เนื้อสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีเมนูลาบเลือดที่ผสมเลือดวัวหรือหมูสด เช่นเดียวกับอาหารอีสานอื่น ๆ นอกจากนั้นคนไทยยังชอบรับประทานลาบคู่กับข้าวเหนียวนึ่ง ในปัจจุบันบางร้านยังมีเมนูลาบทอดที่นำวัตถุดิบลาบมาปั้นเป็นก้อนกลมแล้วนำไปทอดกรอบ เกิดเป็นลาบทอดแสนอร่อยด้วย
- ก้อย
ถ้าเปรียบเมนูนี้กับวัฒนธรรมอาหารฝั่งตะวันตก เราคงเรียกเมนูนี้ว่า ทาร์ทาร์ (tartare) ในแบบฉบับอีสาน ก้อยคือเนื้อดิบสับหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปคลุกเคล้ากับเครื่องเทศและผัก เนื้อที่ใช้ทำมีทั้งวัว ควาย กวาง ปลา กุ้ง หรือแม้แต่ไข่มดแดง ส่วนผสมอื่น ๆ จะเหมือนกับลาบ และแน่นอนว่าต้องกินคู่กับข้าวเหนียวร้อน ๆ เพื่อให้ซึมซับประสบการณ์อาหารอีสานอย่างเต็มที่
- อ่อม
แกงกะหรี่แดนอีสาน ทำจากน้ำพริกโขลกสด ๆ แคลอรี่น้อยเพราะไร้กะทิ ความอร่อยอยู่ที่ผักสดตามฤดูกาลที่นำมาทำ ใส่เนื้อได้หลากหลายทั้งไก่ กบ หมู ปลาดุก หรือหอยทาก พริกแกงผสานรสชาติจากทั้งกระเทียม หอมแดง ตะไคร้ และพริก แล้วเสริมกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยผักชีลาวและใบแมงลัก บางสูตรจะระบุไว้ชัดเจนว่าเนื้อชนิดไหนใช้คู่กับผักอะไร
- แกงหน่อไม้ใบย่านาง
แกงอีสานแสนอร่อยนี้ เหมาะสำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก เพราะเป็นแกงที่ไม่ใส่กะทิ อันดับแรก นำหน่อไม้สดมาต้มเพื่อกำจัดรสขม ก่อนนำไปต้มรวมกับพริกแกงสีเขียวจากใบย่านาง แล้วเสริมความข้นด้วยข้าวเบือที่โขลกไว้ ใส่เครื่องแกงอื่น ๆ ที่เตรียมไว้ทั้งพริกขี้หนูและหอมแดง และปลาร้าเพื่อเพิ่มรส นอกจากนี้ยังสามารถใส่ผักตามฤดูกาลเพิ่มรสชาติได้อีกด้วย
- ไส้กรอกอีสาน
ไส้กรอกอีสานมาจากการนำเนื้อ มัน และหนังหมูมาบด จากนั้นใส่ข้าวสวยเพื่อให้เกิดกระบวนการหมัก ทิ้งไว้ระยะสั้น ๆ แค่ 2-3 วันพอให้มีรสเปรี้ยวเล็ก ๆ ระหว่างทำยังปรุงรสด้วยกระเทียม เกลือ และพริกไทย เหมาะกินเป็นของว่างแสนอร่อย คู่กับพริก ขิง และกะหล่ำปลี
- ปลาส้ม
“ส้ม” ภาษาอีสานแปลว่าเปรี้ยว ดังนั้น เตรียมลิ้นรับรสเปรี้ยวที่เกิดจากการหมักได้ ปลาที่นำมาทำส่วนมากเป็นปลาน้ำจืดอย่างปลาตะเพียน อาจจะใช้ทั้งตัวหรือเฉพาะเนื้อ นำมาหมักกับข้าวสุกปรุงรสแล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน ได้ที่แล้วนำไปทอดหรือย่างตามใจชอบ
- หมก
“หมก” คือวิธีการรังสรรค์อาหารแบบหนึ่ง ใกล้เคียงกับห่อหมกของภาคกลาง เนื้อสัตว์หรือผักผสมกับเครื่องแกง ห่อใบตอง แล้วนำไปนึ่งหรือย่าง แต่หมกแบบอีสานจะไม่ใส่กะทิ แล้วเพิ่มความหอมด้วยสมุนไพรอย่างใบแมงลักแทน วัตถุดิบทำหมกมีหลากหลาย ตั้งแต่ปลา กบ ไข่มด ไข่ปลา หรือจะเป็นผักอย่างหน่อไม้ ปลีกล้วย หรือเห็ด
แค่เห็นรูปแอดก็รู้สึกหิวเเล้วค่ะเพื่อนๆ ยังไงก็อย่าลืมไปให้ลองชิมหันนะคะ
อ้างอิงจาก: https://guide.michelin.com/
:https://food.trueid.net/
:https://cookpad.com/