ระวัง! เครียดมาก เสี่ยงเป็นหลายโรค
ความเครียด (Stress) เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันนี้พบว่า คนส่วนใหญ่มักมีอาการเครียดสะสม อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่ตึงเครียด บางรายมีความกดดันมาก และมีความคาดหวังในชีวิตสูงซึ่งพอไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้มีอาการเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน ในบางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือ โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) ได้ในอนาคต
สัญญาณของอาการเครียดสะสม
เมื่อเรามีภาวะเครียดมาก ๆ จะทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลงเรื่อย ๆ ผู้ที่เริ่มสงสัยว่าตนเองมีอาการเครียดสะสมหรือไม่ สามารถสังเกตตนเองได้จากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่จะมีอาการดังนี้
- พฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็วเกินไป หรือ ชอบตื่นกลางดึก
- พฤติกรรมทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น นิ่งเงียบ ไม่พูดคุย เบื่อหน่ายชีวิต วิตกกังวล และหน้าตาเศร้าหมอง ความต้องการทางเพศลดลง
- อาการเครียดที่แสดงออกทางกาย เช่น หายใจถี่ขึ้น หรือ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว บางรายมีอาหารปวดหัวร่วม
- ผู้ที่มีความเครียดสะสมมาก ๆ อาจมีอาการเครียดจนอยากตาย
ชนิดของความเครียด
1. Acute stress คือความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีและร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันทีเหมือนกัน โดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียดหายไปร่างกายก็จะกลับสู่ปกติเหมือนเดิม ฮอร์โมนก็จะกลับสู่ปกติ ตัวอย่างความเครียด
- เสียง
- อากาศเย็นหรือร้อน
- ชุมชนที่คนมากๆ
- ความกลัว
- ตกใจ
- หิวข้าว
- อันตราย
2. Chronic stress หรือความเครียดเรื้อรังเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวันและร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น ซึ่งเมื่อนานวันเข้าความเครียดนั้นก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง ตัวอย่างความเครียดเรื้อรัง
- ความเครียดที่ทำงาน
- ความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
- ความเครียดของแม่บ้าน
- ความเหงา
ผลเสียต่อสุขภาพ
ความเครียดเป็นสิ่งปกติที่สามารถพบได้ทุกวัน หากความเครียดนั้นเกิดจากความกลัวหรืออันตราย ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะเตรียมให้ร่างกายพร้อมที่จะต่อสู้ อาการที่ปรากฏก็เป็นเพียงทางกาย เช่น ความดันโลหิตสูง ใจสั่น แต่สำหรับชีวิตประจำวันจะมีสักกี่คนที่จะทราบว่าเราได้รับความเครียดโดยที่ เราไม่รู้ตัวหรือไม่มีทางหลีกเลี่ยง การที่มีความเครียดสะสมเรื้อรังทำให้เกิดอาการทางกาย และทางอารมณ์
โรคทางกายที่เกิดจากความเครียด
- โรคทางเดินอาหาร
- โรคปวดศีรษะไมเกรน
- โรคปวดหลัง
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหัวใจ
- ตับอักเสบจากการติดสุรา
- ถุงลมโป่งพองจากการติดบุหรี่
- โรคภูมิแพ้
- โรคหอบหืด
- ภูมิคุ้มกันต่ำลง
- เป็นหวัดง่าย
- มะเร็ง
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อรู้สึกเครียด?
จัดการความเครียดด้วยตัวคุณเอง คำแนะนำในการดูแลตนเองเมื่อมีภาวะเครียดสะสม
- พยายามมองโลกในแง่บวก วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น ๆ
- จัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวใหม่ เช่น การจัดบ้านใหม่ หรือ โต๊ะทำงาน เพื่อลดอาการเบื่อหน่าย หรือ ความจำเจ
- บำบัดตัวเองง่าย ๆ ด้วยสิ่งที่ตนเองชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง วาดภาพ ออกกำลังกาย
- ออกไปหาสถานที่ผ่อนคลาย เช่น ไปเที่ยวทะเล ไปเดินห้างสรรพสินค้า หรือ ไปสวนสาธารณะ
- พบปะเพื่อนฝูงหรือใช้เวลากับครอบครัว การที่เราสามารถพูดคุย หรือ ปรึกษาปัญหาที่เรากำลังเผชิญนั้น สามารถลดความเครียด ความกดดันในชีวิตได้
การรักษาอาการเครียดสะสม
ความเครียดสะสมเป็นภาวะที่สร้างความกังวลและรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในบางรายที่มีอาการเครียดสะสมมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างได้ การไปพบจิตแพทย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่หาทางออกจากภาวะเครียดสะสมไม่ได้ หลายคนมักเข้าใจว่าการไปพบจิตแพทย์ คือ เรามีภาวะจิตไม่ปกติ แต่ในความจริงแล้ว การไปพบจิตแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เราบรรเทาอาการเครียดสะสม ซึ่งจิตแพทย์จะให้คำปรึกษาและบำบัดให้เราอย่างถูกต้อง เพื่อคลายความเครียดอย่างถูกวิธีนั่นเอง