ป้อมปราการสองแห่งสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพมหานคร
ป้อมปราการ 2 แห่งสุดท้าย ที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพมหานคร
ป้อมพระสุเมรุ (Phra Sumen Fort) เป็นป้อมปราการที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นหนึ่งใน ป้อมปราการ 14 แห่งที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันพระนคร ชื่อป้อมพระสุเมรุ ได้นำมาตั้งเป็นชื่อถนนพระสุเมรุ
ป้อมพระสุเมรุซึ่งสร้างมาแต่รัชกาลที่ 1 มีลักษณะสวยงาม และเป็นประโยชน์ใช้สอยมากมาย มีเชิงเทิน ช่องยิงปืน ห้องเก็บกระสุนดินดำ และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ แต่ก็ชำรุดทรุดโทรมเป็นธรรมดา จนถึง พ.ศ. 2524 กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมบูรณะตามรูปแบบเดิม จากภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 จนแลดูสง่างามเหมือนเดิม และยังปรับปรุงบริเวณโดยรอบให้เป็นสวนสาธารณะอีกด้วย โดยให้ชื่อว่า "สวนสันติชัยปราการ" มีพลับพลา ชื่อว่า "พระที่นั่งสันติชัยปราการ" ป้อมพระสุเมรุ มีความสูง 31.5 เมตร กว้าง 45 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2326
ป้อมมหากาฬ (Mahakan Fort) ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ติดกับถนนมหาไชย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทางด้านหลังมีกำแพงเมืองพระนครหลงเหลืออยู่
ป้อมมหากาฬสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2326 เป็นป้อม 1 ใน 14 ป้อมสร้างขึ้นเพื่อป้องกันรักษาพระนคร มีลักษณะรูปแปดเหลี่ยม มีกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น เป็นป้อมประจำพระนครด้านตะวันออก ปัจจุบันป้อมมหากาฬเป็น 1 ใน 2 ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงเทพมหานคร (อีกป้อมหนึ่งคือป้อมพระสุเมรุ) ทางกรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร ได้บูรณะซ่อมแซมป้อมมหากาฬ เมื่อคราวพระราชพิธีสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 และได้มีการบูรณะเรื่อยมา จนมีสภาพที่เห็นในปัจจุบัน ป้อมมหากาฬมีความสูง 15 เมตร กว้าง 38 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2326