จุดกำเนิด(พริตตี้)ครั้งแรก
พริตตี้ (pretty) หรือ บูธเบบ (booth babe) หรือ อิเบะคอน เป็นพนักงานขาย (ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง) ในประเทศญี่ปุ่นจะเรียกว่า อิเบะคอนซึ่งย่อมาจาก อีเวนต์คอมพาเนียน
จะเน้นการเป็นนางแบบในลักษณะการออกบูธจัดงานแสดงสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานมอเตอร์โชว์
ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน 'โตโยต้า' คือค่ายรถยนต์ค่ายแรก ที่นำ 'พริตตี้' มาเป็นกลยุทธ์เรียกความสนใจ โดยให้สาวๆ หน้าตาน่ารัก มาคอยยืนให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับรถ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในแง่ของการดึงความสนใจ เพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของรถก็คือลูกค้าที่เป็นผู้ชาย
ด้วยเหตุนี้ในระยะเวลาไม่นาน วัฒนธรรมการมีพริตตี้ มาคอยเชิญชวนให้ชมสินค้าและอธิบายรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ จึงแพร่ขยายความนิยมไปทั่วโลก ไม่เว้นในประเทศไทย ซึ่งนานวัน พริตตี้ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงยานยนต์อีกต่อไปแล้ว แต่ยังขยายฐานความนิยมไปยังสินค้าอื่นๆ ด้วย
ซึ่งแม้ในระยะแรก พริตตี้มักจะจำกัดวงเฉพาะสินค้าที่มีผู้ชายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ ณ ปัจจุบัน พริตตี้ก็ขยายความนิยมไปยังสินค้าหลากหลายที่เหมาะกับคนทุกเพศ ไม่ว่าอาหารเสริม เครื่องสำอาง เครื่องออกกำลังกาย ยาลดน้ำหนัก อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว หรือแม้แต่นมพร่องมันเนย
แต่ไม่ว่าอย่างไรพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์ ก็ยังถือว่าทรงอิทธิพล เรียกความสนใจจากคนทั่วไปได้มากกว่าพริตตี้ของสินค้าประเภทอื่นๆ เพราะนอกจากเป็นต้นกำเนิดของการก่อสร้างอาชีพ "พริตตี้"ในเมืองไทยนับแต่เมื่อ 25 ปีก่อน หลังได้รับแรงส่งมาจากญี่ปุ่นแล้ว มหกรรมมอเตอร์โชว์ก็ยังคงสืบต่อวัฒนธรรมพริตตี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเฟ้นหาสาวงามที่มีบุคลิกดี มาดมั่น มาคอยยืนเรียกความสนใจและให้บริการข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์แต่ละคัน
ทั้งมีการจัดประกวดมิสมอเตอร์โชว์ ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ทำให้กลายเป็นบันไดอีกขั้นในการก้าวสู่แวดวงบันเทิง เพราะตำแหน่งดังกล่าว รับประกันดีกรีความสวยที่ไม่น้อยหน้าไปกว่านางงามเวทีใดๆ สมดังอาชีพ 'พริตตี้' ของพวกเธอที่แปลตรงตามคำศัพท์ 'Pretty' ว่า 'น่ารัก' ในสายตาของใครต่อใคร