ทำไมดื่มน้ำอัดลม ชนิดน้ำตาล0% (พร้อมกินข้าว) แล้วน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น?
ล่าสุดเพจเฟสบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฏ์ ได้โพสดังนี้..
มีคนสงสัยคลิปติ๊กต๊อก จากช่อง Hello Dr Brian ที่มีแคปชั่นเกริ่นว่า ทำไมดื่มน้ำอัดลม น้ำตาล0% น้ำตาลยิ่งสูง (ดู https://www.tiktok.com/@hellodrbrian/video/7222243184338832667?is_from_webapp=1&sender_device=pc&web_id=7219171588503373314) ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ที่น้ำตาล(ในเลือด)จะสูงขึ้น ทั้งที่ในเครื่องดื่มมันไม่มีน้ำตาล แล้วจะไปเอามาจากไหน ?
คือต้องค่อยๆ ฟังคลิปของคุณหมอไบรอันเค้าตั้งแต่ต้นจนจบน่ะครับ จะเข้าใจ .. สรุปสั้นๆ คือ ตัวเครื่องดื่มน้ำตาล0% เนี่ย มันใช้สารให้ความหวาน (sweetener) บางชนิด ที่ตัวสารเองแม้ว่าจะไม่ได้ให้แคลอรี่ หรือไม่ได้ทำให้ระดับ "น้ำตาลกลูโคส" ในเลือดสูงขึ้น
แต่ถ้า "กินพร้อมข้าว" สารพวกนี้มันจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน "อินซูลิน insulin" ออกมา และระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดก็จะยิ่งสูงขึ้น ได้เร็วขึ้น ซึ่งเข้าใจว่า จากงานวิจัยที่คุณหมออ้างถึงนั้น (ไม่ได้ให้ reference ไว้ ว่างานวิจัยชิ้นไหน) การกินร่วมกันแบบนี้ จะทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสพุ่งขึ้นได้เร็วกว่ากินแต่ข้าวเปล่าเฉยๆ
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเรากินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต (พวกแป้ง) เข้าไป มันจะถูกย่อยให้เล็กลงจนกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดส่งไปใช้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เราวัดระดับน้ำตาลในเส้นเลือดได้ว่ามันสูงขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา เป็นตัวช่วยให้น้ำตาลจากเส้นเลือดผ่านเข้าไปยังเซลล์ในร่างกาย ไปใช้เป็นพลังงาน หรือเก็บสะสมด้วยการเปลี่ยนเป็นไขมัน
มีสมมติฐานเสนอกันว่า สารให้ความหวานนั้น สัมพันธ์กับการหลั่งอินซูลินและระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้น ได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น
- รสชาติที่หวาน ของสารให้ความหวาน ได้ไปกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ในช่วงเซฟาลิก (cephalic phase เป็นช่วงที่แม้ว่าน้ำตาลในเลือดจะยังไม่สูง แต่ร่างกายก็เริ่มหลั่งอินซูลินออกมาแล้ว ตอบสนองต่อการมองเห็น ได้กลิ่น ได้รสชาติของอาหาร ตลอดจนการเคี้ยวและกลืนอาหาร) ทำให้อินซูลินเพิ่มขึ้น
- การรับประทานสารให้ความหวานบ่อย ๆ ทำให้สมดุลย์ของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนไป จนเซลล์ในร่างกายเกิดอาการดื้อต่ออินซูลินที่สร้างขึ้น และต้องสร้างเพิ่มขึ้นอีกจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
อย่างไรก็ตาม "สารให้ความหวาน" แต่ละตัวนั้น ก็มีผลต่อการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินต่างกันด้วยครับ เช่น แอสปาแตม (Aspartame) ไม่ได้จะกระตุ้นอินซูลิน
ขณะที่ซูคราโลส (Sucralose) และอะซิซัลเฟม โปแตสเซียม (Acesulfame Potassium หรือ acesulfame-K) ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้กันมากขึ้นนั้น กระตุ้นการหลั่งอินซูลินได้ .. จึงควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อย่างผู้ป่วยเบาหวานครับ
- ซูคราโลส : ผลการศึกษาในสัตว์และในมนุษย์ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณของซูคราโลสที่กินเข้าไป และระดับของอินซูลินที่เพิ่มขึ้น
มีงานวิจัยหนึ่ง ได้ให้อาสาสมัคร 17 คน กินสารละลายซูคราโลส เทียบกับดื่มน้ำเปล่า แล้วตรวจหาระดับการดื้อต่อน้ำตาลกลูโคส พบว่า กลุ่มที่กินซูคราโลสมีระดับของอินซูลินในเลือด สูงกว่าถึง 20% และระดับของอินซูลินนี้ ก็ลดลงช้ากว่ามากด้วย
นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า ซูคราโลสสามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ในช่วงเซฟาลิก ได้ตั้งแต่อยู่ในปากแล้ว ด้วยการกระตุ้นตัวรีเซปเตอร์รับรสในปาก โดยจากงานวิจัยหนึ่งที่ลองฉีดซูคราโลสเข้าไปที่กระเพาะโดยตรง ไม่ผ่านปาก แสดงให้เห็นว่า ระดับอินซูลินไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- แอสปาแตม : แอสปาแตมเป็นสารให้ความหวานที่มีการศึกษากันจนแทบจะรู้จักดีที่สุดแล้ว และจากงานวิจัยต่างๆ ไม่พบความเชื่อมโยงว่ามันจะเพิ่มระดับอินซูลินในเลือดได้
- อะซีซัลเฟม โพแตสเซียม : สามารถเพิ่มระดับของอินซูลินในเลือดของหนูทดลองได้ โดยงานวิจัยหนึ่งระบุว่า เมื่อฉีดอะซีซัลเฟม โพแตสเซียม ปริมาณมากเข้าไป พบว่าหนูมีระดับของอินซูลิมเพิ่มขึ้นถึง 114-210% / แต่ผลของสารตัวนี้กับคนนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน
#สรุปอีกทีนึง
- กินเครื่องดื่มชนิด น้ำตาล0% เฉยๆ อย่างเดียว ไม่ได้ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงขึ้น
- กินเครื่องดื่มชนิด น้ำตาล0% พร้อมข้าว-แป้ง-ขนมคาร์โบไฮเดรต ถ้าสารให้ความหวานนั้นเป็นซูคราโลส เป็นอะซิซัลเฟม โปแตสเซียม ก็ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงขึ้นได้ครับ
- ถ้าเป็นคนปรกติธรรมดา ก็สามารถดื่มได้ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ต้องระมัดระวังสูง ถ้าจะดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้พร้อมกินข้าวไปด้วย (หรืออย่างน้อย ต้องเลือกเครื่องดื่ม ที่ใส่แอสปาแตม เป็นสารให้ความหวาน)
- หลักการนี้ ใช้รวมถึงขนมและอาหารอื่นๆ ที่อ้างว่า "มีน้ำตาล0% เพราะใช้สารให้ความหวาน" ด้วยทั้งหมดครับ