แหลมยาวที่สุดในประเทศไทย
แหลมตะลุมพุก” สถานที่ท่องเที่ยวนครศรีธรรมราชในอำเภอปากพนัง จุดเด่นคือเป็นชายหาดสีขาว รูป พระจันทร์เสี้ยว ยาวโค้งเรียวยาวไปตามชายฝั่งทะเลแนวเหนือ-ใต้ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ด้านหนึ่งของแหลมรับลมทะเล จากฝั่งอ่าวไทย อีกด้านรับคลื่นลมในฝั่งอ่าวปากแม่น้ำปากพนัง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยรถยนต์จนถึงปลายแหลมได้เป็น แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งในปัจจุบันมีการปรับทัศนียภาพให้สวยงามขึ้น ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมวิถีชีวิตที่หลากหลาย ทั้งชาวอิสลาม ชาวจีน และชาวพื้นเมือง แม้ในอดีตแหลมตะลุมพุกจะได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากพายุโซนร้อนแฮเรียตในปี 2505 แต่ภาพความสวยงามของชายหาด ก็ทำให้แหลมตะลุมพุกแห่งนี้กลับมาสดใสและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่ตั้ง ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช
แหลมตะลุมพุก” คำว่าตะลุมพุก เป็นนาม
ของปลาชนิดหนึ่งที่เคยมีชุกชุมในบริเวณปลายแหลมแห่งนี้ ชาวบ้านเลยเรียกแหลมนี้ว่า “แหลมตะลุมพุก” จากการมีปลาตะลุมพุกชุกชุมมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันปลาตะลุมพุกในบริเวณปลายแหลมไม่มีแล้ว “แหลมตะลุมพุก” มีประชาชนมาตั้งถิ่นฐานในราวรัชกาลที่ 2,3 สมัยรัตนโกสินทร์ ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่พวกแรกเป็นชาวไทยอิสลาม เข้ามาทำการประมง ปัจจุบันมีกุโบ(หลุมฝังศพ) เก่าอยู่หลายแห่ง หลังจากนั้นมีชาวจีนอพยพเข้ามาอาศัยทำการค้า มีโรงพระจีนและประชาชนในตำบลมีเชื้อสายแซ่ ต่างๆ พวกสุดท้ายเป็นคนไทยพื้นเมือง ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ตำบลแหลมตะลุมพุก ได้ประสมทางวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ชาวบ้านนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจทั้งทางศาสนาอิสลาม (แม่แหมะ ตาแหลม) คนจีน (ก๋ง) ไทยพุทธ (พ่อท่านลาภ พ่อท่านสว่าง) ตำบลแห่งนี้ในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งไทย จีน อิสลาม มีโรงเรียนจีน วันสำคัญของคนจีนมีธงชาติจีนมากกว่าธงชาติไทย ประชากรอพยพมาอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 800 ครัวเรือน และที่สำคัญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐกาลที่ 5 เคยเสด็จแหลมตะลุมพุก เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2432 จากบันทึกจดหมายเหตุเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ.108 โดยได้บรรยายสภาพความเป็นอยู่การประกอบอาชีพของประชาชนว่า “ที่แหลมนี้ เป็นหาดแคบนิดเดียวแต่ยังยาววงเป็นอ่าวเข้าไปไกล มีเรือนประมาณ ๗๐ หลัง ปลูกมะพร้าวมาก มีของที่เป็นสินค้าขายออก คือ ปลาเค้า ปลากระบอก เคย แตงเป็นมาก เวลาบ่าย ๔ โมง เสด็จกลับมาลงเรือพระที่นั่ง แล้วออกเรือพระที่นั่งต่อมา” (หมู่ที่ 3 ในปัจจุบัน)
อ้างอิงจาก: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย