“เส้นจีวรเฉียง” ปริศนา บนรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความพยายามเฮือกสุดท้าย เพื่อรักษาศรัทธาแลอำนาจที่สิ้นสลาย
“เส้นจีวรเฉียง” ปริศนา บนรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ความพยายามเฮือกสุดท้าย เพื่อรักษาศรัทธาแลอำนาจที่สิ้นสลาย ?
.
.
.
รูปประติมากรรมเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นรูปเคารพที่เหลือรอดจากอดีตมาไม่มากนัก ซึ่งสาเหตุก็อาจมาจากเหตุผลเดียวกันกับรูปประติมากรรมของพระพุทธปฏิมากรนาคปรกจำนวนมากในจักรวรรดิที่เคยยิ่งใหญ่ ที่ถูกทุบทำลายอย่างตั้งใจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปศิลปะสลักตามปราสาทในเขตอิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 กษัตริย์ในยุคสืบต่อ ที่หันกลับไปศรัทธาบูชาลัทธิฮินดูเทวราชา
------
*** รูปสลักเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้ มีความสูงรวมฐาน 1.35 เมตร อาจเป็นรูปที่สมบูรณ์แบบหากพระพาหา (แขน) ทั้งสองข้างไม่หักหายไป นุ่งภูษาสนับเพลาขาสั้น แข้งคม มีกล้ามเนื้อรอบสะบ้าเข่า นั่งขัดสมาธิราบ ไม่ปรากฏร่องรอยของพระหัตถ์ที่หน้าตัก
จึงสันนิษฐานกันในครั้งแรก ๆ ว่า แขนที่หักหายไปอาจจะอยู่ในท่าพนมมือ(ปัจจุบันพบพระกร-พระหัตถ์ในท่าอัญชลีมุทรา (Añjali mudrā) หรือ “ปราณามาสนะ” (praṇāmāsana) อยู่ในคลังสำนักงานอภิรักษ์อังกอร์แล้ว) สัญนิฐานว่า รูปประติมากรรมเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้ เคยตั้งอยู่ในปราสาทประธานของปราสาทบายน แสดงการนมัสการแก่รูปพระรัตนตรายะ-ชัยพุทธมหานาถ ผู้เป็นใหญ่แห่งอาณาจักร ซึ่งอาจมีพระนามว่า “พระกัมพุเชศวร” (Kambujeśvara) ที่พบพระนามจากจารึก K. 293 บนผนังกำแพงที่ปราสาทบายนครับ
.
ที่บริเวณ พระอุระ (หน้าอก) และ พระปฤษฎางค์ (หลัง) ของรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีร่องรอยของการขีดสกัดเป็นแนวเส้นโค้งทั้งด้านหน้าและหลังตามแบบการห่มจีวรเฉียงของพระพุทธรูป แต่เส้นขีดด้านหน้าไปจบก่อนถึงพระอังสา (ไหล่) ไม่ได้เชื่อมกับเส้นด้านหลัง ซึ่งการขีดเส้นเช่นนี้ พบเพียงรูปประติมากรรมองค์นี้เพียงองค์เดียว จากรูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งหมดที่เคยพบจนถึงในปัจจุบัน
.
การขีดเส้นจีวรเฉียงที่เกิดขึ้น อาจเป็นความพยายามของเหล่านักบวชในแผ่นดินเก่า ที่ยังคงศรัทธาและจงรักภักดี สลักขีดเส้นอย่างเร่งด่วนฉุกละหุกบนเนื้อผิวหินเดิม เพื่อจะรักษารูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เอาไว้ในช่วงเวลาสุดท้าย โดยพยายามจะแปลงรูปเหมือนนี้และอธิบายแบบศรีธนัญชัยให้กับผู้มีอำนาจใหม่ที่เข้ามาทุบทำลายว่า เป็นรูปของ “พระพุทธสาวก” ของฝ่ายเถรวาท (พระพุทธรูปศิลปะบายนในคติวัชรยาน จะทำเป็นจีวรห่มคลุมมีเส้นจีวรอยู่ที่พระศอแบบห่มคลุม ไม่ทำเป็นเส้นจีวรเปิดไหล่แบบพระพุทธรูปเถรวาท) ครับ
.
แต่ก็คงไม่เป็นผล ด้วยเพราะอำนาจของราชสำนักผู้ปกครองได้ผลัดเปลี่ยนไปแล้วตามยุคสมัย แม้แต่รูปพระพุทธปฏิมากรนาคปรกองค์ประธานของปราสาทบายน รวมทั้งรูปเคารพทั้งหลายในเขตเมืองพระนครธม ที่แค่ดูว่าคล้ายว่าจะเป็นรูปแบบศิลปะในคติวัชรยาน ก็ยังแทบไม่เหลือรอดจากโศกนาฏกรรมในช่วงเวลานั้นได้เลย
.
รูปเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สำคัญองค์นี้ ยังปรากฏร่องรอยการทุบทำลายให้เห็นไปทั่วร่าง พระเศียร พระนาสิก พระหนุ ปลายพระกรรณถูกทุบกะเทาะแตก พระศอ พระกร พระเพลา แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และยังถูกให้นำไปทิ้งแบบโปรยกระจายไว้บนพื้นคอกสัตว์หลวงนอกพระนคร ให้ถูกสัตว์เหยียบย่ำจนผิวพระปฤษฎางค์ พระโสณีเลยไปถึงพระที่นั่ง กะเทาะแตกเป็นแผ่นกว้างให้เห็นอย่างชัดเจน
.
----------------------------------------------------
*** รูปประติมากรรมเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบจากโกรฺล-รมาส ปัจจุบันถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ เป็นรูปเคารพที่สำคัญของประวัติศาสตร์กัมพูชาในยุคปัจจุบัน และยังเป็นต้นแบบของรูปสลักเลียนแบบที่กลายมาเป็นของที่ระลึก ในธุรกิจการท่องเที่ยวยุคใหม่ด้วยครับ
.
.
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/photo?fbid=1067181087079926&set=pcb.1067181143746587
https://www.facebook.com/OldKhmerempire/posts/pfbid02EkuD3ZyaxMZc7yKyQPsQqLbG7psyT16NzGpgrh9r8vwyGu6v4bfh6b9QtYqj5n2ul
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า