พลังงาน : โครงการเครดิตคาร์บอนคืออะไร? เพราะอะไร EA ถึงผลักดันโครงการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในไทย
สำหรับใครที่ยังไม่เก็ตว่า “คาร์บอนเครดิต” คืออะไร และเป็นโอกาสทางธุรกิจได้ยังไง อยากให้มากองรวมกันตรงนี้ จขกท. เองตอนแรกก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เอาจริงๆ เพิ่งจะรู้จัก “เครดิตคาร์บอน” จากพาดหัวข่าวด้านบนด้วยซ้ำ ก็ได้เริ่มลองหาข้อมูลเพิ่ม แน่นอน......ถ้าไม่เจอประเด็นที่น่าสนใจคงไม่อยากจะมาตั้งกระทู้พูดคุยกันหรอก ดังนั้นมันต้องน่าสนใจสิเนอะ
เอาหล่ะ ขอเริ่มต้นกันที่ความหมายก่อนแล้วกัน อันนี้ขอให้เครดิตจากรายการ Right Now Ep.199 ชื่อคลิปว่า คาร์บอนเครดิต คืออะไร? ทำไมศักยภาพโต 15 เท่าใน 10 ปี ที่มี ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย ผู้บริหาร ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มาให้ข้อมูลตรงนี้ เขาบอกว่า ขอแบ่งออกเป็น 2 คือ คือ คาร์บอน กับ เครดิต
คาร์บอน ในที่นี้ไม่ใช่แค่คาร์บอนไดออกไซด์ แต่มันรวมถึงก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ที่มาที่ไปก็คือโลกที่มันมีอุตสาหกรรมมากขึ้น เศรษฐกิจเจริญขึ้น ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ “เศรษฐกิจเจริญมากเท่าไหร่ คาร์บอนก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น”
เครดิต คือ เรามีสิทธิในความน่าเชื่อถือ คนที่มีคาร์บอนเครดิต คือคนที่มีสิทธิ์ที่จะเคลม มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยคาร์บอนออกมา ถ้าบอกว่า บริษัทเรามีคาร์บอนเครดิต เท่ากับเรามีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก
เมื่อนำ 2 คำมารวมกัน ก็คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง หรือดูดซับเพิ่มขึ้นจากการทำโครงการต่างๆ และโครงการนั้นๆ ได้รับรองมาตรฐานจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยคาร์บอนจะมีหน่วยเป็น ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)
คาร์บอนเครดิตเนี่ย ก็จะมีผลต่อการกำหนดราคาสินค้าด้วยนะ เพราะเขาเล็งเห็นถึงความสำคัญในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมองว่ามันเป็นสิ่งที่คนทุกคนด้วยจะต้องแบกรับต้นทุนเหล่านี้ ไปด้วยกัน ก็คือ รับผิดชอบพร้อมๆ กันนั่นแหละ
โดยที่มาของเจ้าเครดิตก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีการใหญ่ๆ คือ ตัวโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายจะลดคาร์บอนจากการผลิต สมมุติจากเดิมการผลิตดังกล่าวทำให้เกิดคาร์บอน 100% KPI จะทำให้ลดลง 20% จากการผลิต ด้วยการปรับประสิทธิภาพในการผลิต ปรับปรุงขั้นตอน เปลี่ยนเครื่องจักร อะไรก็ว่าไป ก็มีคาร์บอนเครดิตได้แล้ว
อีกวิธีหนึ่งก็คืออย่างพวกบริษัทองค์กรใหญ่ๆ สนับสนุนการปลูกต้นไม้ เพิ่มเนื้อที่ปริมาณป่า เพื่อให้ต้นไม้มาดูดซับคาร์บอนโดยก็จะมีการบอกไว้ว่า จะดูดซับคาร์บอนได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ๆ ซึ่งตรงนี้ก็จะมีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานจาก อบก. ชื่อเต็มว่า “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก”
ถ้าองค์กรไหน ไม่สามารถปรับลดคาร์บอนแบบวิธีการแรกได้ องค์กรนั้นๆ ก็จะสามารถซื้อเครดิตคาร์บอนจากวิธีที่ 2 ได้เช่นกัน
ในที่สุดการซื้อขายก็เกิดขึ้นตรงนี้นี่เอง
ประเด็นถัดมาจากเนื้อหาข่าวที่บอกว่า EA ปลื้ม! โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสาร EV ระหว่างไทยกับสมาพันธ์รัฐสวิส โครงการแรกในเอเชียอนุมัติแล้ว "Klik Foundation" พร้อมสนับสนุนทางการเงินรับซื้อ Carbon credit
มีใครงงเหมือนกันบ้างไหม ว่าทำไมสมาพันธรัฐสวิส ถึงจะต้องมาซื้อคาร์บอนเครดิตถึงที่ไทยด้วย
ตลาดคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market)
2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)
ประเทศไทยอยู่ในตลาดแบบภาคสมัครใจ แต่ว่าตลาดทางยุโรปมีความตื่นตัวกับคาร์บอนเครดิตมากๆ ราคาซื้อขายในตลาดประเทศเขาถึงมีราคาสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่เขาอาจจะเริ่มมองหาเครดิตนอกประเทศ และก็ได้เข้าซื้อคาร์บอนเครดิตกับ EA ผ่านการรับรองภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิต ที่เกิดขึ้นจากโครงการ T-VER สามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes: ITMOs)
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Carbon-Credit-FB-11-10-2022.aspx
นับว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์มาก เพิ่งจะรู้ว่าตลาดคาร์บอนเครดิตมมีความคึกคัก และมีโอกาสที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายคาร์บอนเครดิตให้กับกลุ่มประเทศต่างประเทศที่เขาต้องการได้ด้วย
นับว่าเป็นธุรกิจที่ได้ทั้งรายได้ และได้รักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วยดีเหมือนกันเนอะ