กระจ่าง!! สิ่งที่เห็นในข่าวมันคือ "อุลกมณี" ไม่ได้หายากมากเท่าอุกกาบาตที่ตกลงมา ราคาก็ไม่แพงอะไร
ออ๋ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โพสต์เรื่องราวที่เป็นข่าว สิ่งที่เห็นในข่าวนี้ (ดูข่าวด้านล่าง) มันเรียกว่า "tektite หรือ อุลกมณี" ครับ
อุลกมณีเกิดจากพวกทรายบนผิวโลกเรานี้หลอมเหลวขณะที่อุกกาบาคตกลงมาครับ ไม่ใช่เป็นตัววัตถุที่ตกลงมา อย่างอุกกาบาต ไม่ได้หายากมากเท่าอุกกาบาตที่ตกลงมา ราคาก็ไม่แพงอะไร
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ อุลกมณี ได้ด้านล่างนี้ครับ
(ป.ล. บางท่านสงสัยว่าแล้วแถวที่พบอุลกมณี ก็ต้องมีอุกกาบาตตกอยู่ด้วยใช่มั้ย ... คือมันต้องมีอุกกาบาตตกแถวนั้นจริง แต่นานมากๆๆ แล้วครับ อายุของอุลกมณีนั้น ส่วนใหญ่ประมาณ 750,000 ปี ถึง 35.5 ล้านปี จึงไม่น่าหาอุกกาบาตก่อนนั้นเจอในปัจจุบันนี้ด้วยครับ
-------
(รายงานข่าว) เดินอยู่ดี ๆ มีเสียงหล่นตุ้บ! พบเป็นวัตถุสีดำยาวเรียว ลองเผาไม่ไหม้-ไม่ลาม อยากให้ผู้รู้มาไขปริศนา
ชาย อายุ 40 ปี ชาว อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า ตนมีอาชีพเป็นช่างซ่อมตู้เย็น ยามว่างมักจะออกไปดักหนูนาเป็นประจำ กระทั่งช่วงเย็นของวันหนึ่ง ได้เดินไปทุ่งนาเพื่อไปหาจุดที่จะดักหนู ขณะเดินไปตามถนนลูกรังเรียบคลองลำปะเทียน้อย ได้ยินเสียงตุ้บ! เหมือนของหล่นอยู่ด้านหลัง จึงหันไปมองรอบตัวคิดว่ามีใครมาแกล้ง แต่ก็ไม่เห็นใคร
ขณะเดียวกันเหลือบไปเห็นวัตถุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสีสันแตกต่างจากลูกรังหรือวัตถุชนิดอื่น มีสีดำเรียวยาว ประมาณ 8 ซม. จึงเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ตอนแรกไม่กล้าจับ หาเศษไม้มาเขี่ยดู ก่อนจะเอามือไปจับ
พบว่า ไม่มีน้ำหนักมากเหมือนเหล็ก จึงถือกลับบ้านมาล้างทำความสะอาด
จากนั้นได้ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลว่า เป็นสะเก็ดดาว แต่ไม่มั่นใจเพราะไม่มีความรู้ด้านนี้ จึงโทรแจ้งสื่อ
และยังได้ทดลองด้วยการเอาแก๊สมาเผาวัตถุดังกล่าว ปรากฏว่า ไม่ไหม้ จะร้อนเฉพาะส่วนที่เผาเท่านั้น ความร้อนไม่ลามไปเหมือนเหล็ก จึงอยากรู้ว่าวัตถุดังกล่าวคืออะไร ที่มีรูปร่างลักษณะแบบนี้ และมีน้ำหนักเพียง 50 กรัมเท่านั้น จึงอยากให้ผู้ที่มีความรู้มาชี้แนะ โดยได้เก็บไว้ที่บ้าน เผื่อจะมีผู้รู้มาไขปัญหาได้
-----------
(บทความจากวิกิพีเดีย) อุลกมณี มีหลายชื่อที่เรียกหากัน อุกกามณี แก้วข้าว สะเก็ดดาว เหล็กไหลต่างดาว คดปลวก พลอยจันทรคราส หยดน้ำฟ้า(ตามรูปร่างที่ปรากฏ) สะเก็ดดาว หรืออุลกมณี ตรงกับคำว่า "tektite" ในภาษาอังกฤษ โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า Tektos ในภาษากรีก แปลว่า หลอมละลาย
อุลกมณีที่พบจะมีเนื้อแก้ว ส่วนใหญ่สีดำทึบคล้ายนิล บางชิ้นมีเนื้อในสีน้ำตาลใส บางชิ้นก็มีเนื้อโปร่งแสงสีเขียว ผิวของอุลกมณีจะเป็นหลุมเล็ก ๆ โดยรอบ รูปลักษณ์สัณฐานของอุลกมณีไม่แน่นอน อาจเป็นก้อนกลม ยาวแบน แท่งกลมยาว
คนไทยบางท่านเชื่อว่าสามารถแบ่งอุลกมณี เป็นชนิดต่างๆตามรูปร่าง เช่น ตัวผู้(รูปทรงเป็นแท่งคล้ายลึงค์) หรือตัวเมีย(รูปทรงกลม)
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาและทราบว่าแท้จริงแล้ว อุลกมณี หรือ tektite เป็นทรายที่เกิดบนโลกที่เกิดการหลอมละลายจากความร้อนจากการพุ่งชนของอุกกาบาต ขณะที่ทรายหลอมละลายจะกระเซ็นขึ้นไปบนท้องฟ้า แล้วเกิดการเย็นและแข็งตัวกลางอากาศ ก่อนจะตกกลับคืนสู่พื้นดิน จึงทำให้เกิดรูปร่างหลากหลายแบบ
สีของอุลกมณีจะมีความแตกต่างกันจากการเกิด ว่าเมื่อเกิด มีแร่ธาตุอะไรเข้าไปผสมอยู่ด้วย
จาก https://th.m.wikipedia.org/.../%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8...
อุลกมณี มีหลายชื่อที่เรียกหากัน อุกกามณี แก้วข้าว สะเก็ดดาว เหล็กไหลต่างดาว คดปลวก
--------
(บทความจาก อพวช.) อุลกมณี (Tektite) คือ หินที่มีลักษณะเป็นแก้ว เกิดจากการที่อุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนพื้นผิวโลก แรงกระแทกทำให้ชั้นหินหลอมละลาย และบางส่วนของหินหลอมละลายนั้นถูกดีดออกสู่ชั้นบรรยากาศก่อนตกลงบนผิวโลกอีกครั้ง การที่หินหลอมละลายแข็งตัวขณะร่วงหล่นทำหินหลอมละลายหรืออุลกมณีมีรูปทรงลู่ลม และมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายน้ำหนักไม่กี่กรัม ไปจนถึงก้อนหินขนาดใหญ่ที่อาจมีน้ำหนัก 15 กิโลกรัม อุลกมณีสามารถมีอายุประมาณ 750,000 ปี ถึง 35.5 ล้านปี
โดยทั่วไปอุลกมณีจะมีสีดำทึบ และผิวขรุขระ แต่บางพื้นที่จะพบอุลกมณีสีเขียว หรือสีน้ำตาลโปร่งแสง มีองค์ประกอบหลักเป็นแร่ซิลิกา หรือซิลิคอนไดออกไซด์ (Silica หรือ Silicon Dioxide) ประมาณร้อยละ 70 ถึง 98 และยังประกอบด้วยอนุภาคของแร่ lechatelierite ซึ่งเกิดจากการหลอมผลึกควอตซ์ด้วยอุณหภูมิ และแรงดันสูง ต่างจากหินออบซิเดียน (Obsidian) ที่มีแร่ซิลิกาสูงเช่นเดียวกัน แต่เกิดจากการเย็นตัวของหินหลอมภูเขาไฟ ระดับความแข็งของอุลกมณีอยู่ที่ประมาณ 6 ถึง 7 ตามโมห์สเกล (Mohs' Scale of Hardness) โดยเรียงลำดับ 1 มีความแข็งเท่าแร่ทัลก์ ถึงลำดับ 10 มีความแข็งเท่าเพชร
เนื่องจากการพุ่งชนของอุกกาบาตรมีความรุนแรงมาก ทำให้สามารถพบอุลกมณีได้ในบริเวณกว้างจากจุดที่อุกกาบาตตกสู่พื้น ครอบคลุมพื้นที่ทะเลและภูเขา ซึ่งอยู่มีประมาณร้อยละ 10 ของพื้นผิวโลก ทั้งบริเวณทวีปออสเตรเลีย ทะเลแคริเบียน ประเทศไอเวอรี่โคสต์ ทวีปยุโรปตอนกลาง และประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยมีการพบอุลกมณี และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น หยดน้ำฟ้า สะเก็ดดาว คดปลวก พลอยจันทรคราส เป็นต้น