การกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก
การขยันหาทรัพย์ ซึ่งตรงกับธรรมะที่ว่า หลักสันโดษ หลักหัวใจเศรษฐี หลักความสุขของคฤหัสถ์ 4 ซึ่งเน้นเรื่อง การขยันหาทรัพย์ วิธีการจัดสรรทรัพย์ในการใช้จ่าย เข้าใจจัดการ โดยมีสติปัญญาในการจัดการใช้ทรัพย์ว่า ควรจะใช้เท่าใด จะทำทุนเท่าใด เก็บไว้สำรองเท่าใด รวมถึงการประหยัด รู้จักออม ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ สำหรับธรรมะกับการออมตอนนี้ จะขอขยายความสุขอันเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นกังวลใจเพราะมีหนี้สินติดค้างใคร แม้นมีหนี้ ก็เป็นหนี้ที่สามารถจัดการบริหารได้ ไม่ได้มีหนี้ล้นพ้นตัว จนเกินกำลังนั่นเอง
“การกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก – อิณาทานัง ทุกขัง โลเก”
ธรรมะสุภาษิตยังกล่าวไว้ถึงความไม่พึงปรารถนาของความเป็นหนี้ ไม่ว่าจะเป็นความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ จะทำอะไรก็รู้สึกเครียด อึดอัดไปหมด เชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่ถ้ามีขึ้นมาแล้วคงรู้สึกหนักใจไม่น้อย เมื่อการหนีไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่ประเด็นคือเราจะเผชิญหน้ากับมันอย่างไร? บทความนี้จะพาทุกท่านไปพบกับคำตอบที่อยากรู้ในเรื่อง “วิธีปลดหนี้ 4 ป.” ที่ทำง่าย ได้ผลชัวร์ หากใครกำลังประสบปัญหานี้อยู่ก็สามารถนำเคล็ดลับนี้ไปใช้ได้ หรือถ้าใครยังไม่มีหนี้ก็จะได้รู้ว่า ควรรับมืออย่างไรหากต้องเจอภาระหนี้สินแบบไม่ทันตั้งตัว
1. “เปิดใจ” ยอมรับความจริง ดูว่าหนี้สินทั้งหมดของเรามีอะไรบ้าง
เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองมีภาระหนี้สินมากเกินไป การหนีไม่ช่วยให้หนี้สินหมดไปแน่นอน และยิ่งเราทำเป็นไม่สนใจไปเรื่อย ๆ จำนวนหนี้ก็จะขยายใหญ่ขึ้นจนหมดหนทางแก้ไขในที่สุด นาทีนี้วิธีปลดหนี้สินที่ควรเริ่มคือการเปิดใจยอมรับความจริงและเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด เริ่มจากการหยิบใบแจ้งหนี้ที่คุณเคยซ่อนไว้ออกมาให้หมด เปิดดูทุกรายการอย่างละเอียด หากยอดสูงติดเพดานก็อย่าเพิ่งใจเสียจนไม่กล้าดูต่อ หลังจากนั้นมาพิจารณาว่าที่ผ่านมาเราค้างค่าชำระกี่งวด มีจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยเท่าไร ถึงกำหนดวันชำระเมื่อไร เพื่อจะได้รู้ว่ารายการไหนรอได้ หรือรายการไหนต้องรีบจัดการอย่างเร่งด่วน
2. “ปิดยอดหนี้” ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน
พอเห็นยอดหนี้ที่เรามีทั้งหมดแล้ว วิธีปลดหนี้สินลำดับถัดมาคือวางแผนการชำระหนี้อย่างเป็นระบบ โดยแยกออกเป็นหนี้ระยะสั้น ยอดหนี้รวมคงเหลือน้อย อัตราดอกเบี้ยต่อปีสูง มีงวดผ่อนชำระน้อย เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ และหนี้ระยะยาว ยอดหนี้รวมคงเหลือมาก มีอัตราดอกเบี้ยต่อปีต่ำ แต่มีงวดผ่อนชำระมาก เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเงินสด ฯลฯ ซึ่งวิธีปลดหนี้สินนี้ขอแนะนำให้ปิดยอดหนี้ระยะสั้นที่มียอดหนี้รวมคงเหลือน้อยที่สุด อัตราดอกเบี้ยต่อปีสูงที่สุด และเหลืองวดผ่อนชำระน้อยที่สุดเป็นอันดับแรก เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยสูงไปมากกว่านี้ หากปิดยอดหนี้แรกสำเร็จก็จะสบายใจขึ้น และรู้สึกมีกำลังใจในการปิดยอดหนี้อื่นต่อ ๆ ไป
3. “โปะหนี้” ปรับแผนการชำระหนี้อย่างมีสติ ไม่สร้างหนี้ใหม่
บางคนใจร้อนไปหน่อย อยากหาวิธีปลดหนี้สินให้หมดไว ๆ เลยใช้ทางลัด ไม่ว่าจะเป็นใช้บัตรกดเงินสด สมัครสินเชื่ส่วนบุคคล กู้เงินด่วน หรือเลือกกู้เงินนอกระบบมาโปะหนี้เก่าให้หมดเร็วที่สุด ซึ่งขอบอกว่าวิธีเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย แม้หนี้ก้อนเก่าจะหมดไป แต่หนี้ก้อนใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่ แถมดอกเบี้ยยังสูงมากอีกด้วย จึงอยากแนะนำให้ใจเย็นสักนิด แล้วลองหาวิธีปลดหนี้สินแบบง่าย ๆ แต่ไม่สร้างหนี้เพิ่ม และเป็นภาระให้ตนเองในภายหลัง เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นลง หรือเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงเป็นเงินสดเพื่อมาโปะหนี้ เป็นต้น
4. “ปรึกษาธนาคาร” หรือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้
ถ้าทำทุกวิถีทางแล้วไม่เห็นผล วิธีปลดหนี้สินลำดับสุดท้ายที่จำเป็นต้องทำคือการติดต่อกับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของเราเป็นทางออกที่ดีที่สุด บอกเขาไปตรง ๆ เลยว่าหนี้สินทั้งหมดนั้นเราไม่สามารถจ่ายไหวในระยะเวลาที่กำหนด แต่ยืนยันว่าจะไม่เบี้ยวหนี้แน่นอน เราในฐานะลูกหนี้ก็ไม่อยากเสียประวัติ ส่วนธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ก็ต้องการให้เราชำระเงินให้ครบเช่นกัน ฉะนั้น ทั้งเราและเขาต้องหาจุดกึ่งกลางร่วมกัน พูดคุยถึงสถานการณ์ของเราว่าสะดวกผ่อนชำระได้เมื่อไร งวดละเท่าไร และธนาคารเองมีนโยบายใดที่ช่วยเหลือเราได้บ้าง เช่น พักชำระหนี้ชั่วคราว ขอจ่ายเฉพาะเงินต้นไปก่อน ปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือรีไฟแนนซ์ เป็นต้น
เพราะหนี้สินเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่ถ้าเจอแล้วต้องหาวิธีปลดหนี้สินที่เหมาะสมและวางแผนให้รอบคอบ พร้อมทั้งลงมือทำอย่างมีวินัย เชื่อว่าเราจะเปลี่ยนจากสถานะลูกหนี้ไปสู่คนไม่มีหนี้ได้แน่นอน และขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราบริหารการใช้เงินในปัจจุบันและอนาคตอย่างมีสติ เพื่อไม่ให้ความรู้สึกกังวลจากหนี้สินวนกลับมาอีกครั้ง