การจัดแสดงบอนไซ ในงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่46 ประจำปี 2566
รับชมวิดีโอการจัดแสดงบอนไซได้ที่ >> https://www.youtube.com/watch?v=YhuFURMnE68&t=61s <<
งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ
งานไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัดเชียงใหม่จะจัดขึ้นช่วงฤดูหนาวของทุกๆปี และครั้งนี้จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 46 แล้ว โดยในงานจะมีการประกวดขบวนแห่ของแต่ละองค์กรในจังหวัดเชียงใหม่ และมีการรวบรวมไม้ดอกไม่ประดับ ไม้ชนิดต่างๆมาขายและจัดแสดง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ "บอนไซ" ทางการจัดงานได้รบรวมบอนไซของสมาชิกชมรมคนรักบอนไซเชียงใหม่-ลำพูน มาจัดแสดงเป็นจำนวนมาก และถือว่าเป็นจุดที่คนไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่าบอนไซเป็นไม้แห่งมิตรภาพ ซึ่งจะสร้างสัมพันธไมตรีแก่ทุกๆคน และ 1 ในบอนไซที่ทำการแสดง ได้มีบอนไซจากทางเพจ "บอนไซ ไม้จิ๋ว" มาร่วมแสดงด้วย ซึ่งผมคิดว่าคนที่เล่นบอนไซต้องคุ้นหูหรือว่ารู้จักบอนไซ ไม้จิ๋วอย่างแน่นอน
บอนไซตะโกสวนป่า
ที่เราเรียกบอนไซสวนป่า เพราะว่าเป็นการจัดทิวทัศน์หรือการจำลองป่าใหญ่ๆ ให้มาอยู่ในกระถางนั้นเอง ส่วนตะโกถือว่าเป็นพันธุ์ไม้ของคนไทย ซึ่งแแต่ก่อนคนไทยจะนิยมนำไปทำไม้ดัด จุดเด่นของตะโกคือเมื่อตะโกมีอายุมากๆ ผิวของเขาจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า "ดำเป็นตอตะโก" นะครับ ใช่ครับคำนี้เปรียบเทียบมาจากต้นตะโกที่ท่านเห็นครับ
บอนไซมะสังทรงต้น
มะสังเป็นพันธ์ไม้ที่เก่าแก่ของคนไทยเช่นเดียวกันกับตะโก และมะสังเป็นไม้ที่นิยมนำมาทำบอนไซมาก ซึ่งผมคิดว่าแทบจะทุกคนต้องเคยเห็นแน่นอน แต่ท่านอาจจะไม่รู้ชื่อเขา ท่านอาจจะรู้เพียงว่าบอนไซ เพราะตามตลาดต้นไม้หรือร้านขายต้นไม้ออนไลน์ จะมีมะสังจำหน่ายแทบจะทุกร้าน ส่วนมากที่เราเห็นจะเป็นต้นเล็ก ลักษณะต้นเอี้ยว พริ้ว สวยงาม ปลูกในถ้วยหรือกระถางเซรามิก มีหินและตุ๊กตาตกแต่งน่ารักๆ ผมคิดว่าท่านที่อ่านจะจินตนาการออกนะครับส่วน "ทรงต้น" คือการจำลองต้นไม้ใหญ่ที่อยู่บนพื้นที่ราบ ซึ่งจะมีลักษณะโคนต้นใหญ่ รากนูนขึ้นมาเหนือผิวดิน ดูแล้วหนักแน่นและมั่นคงครับ
บอนไซเพรมน่าใต้หวันเกาะหิน
เพรมน่าใต้หวัน ชื่อบอกอยู่แล้วครับว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศใต้หวัน แต่ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย หากนักเล่นบอนไซท่านไหนที่อยากได้ลำต้นใหญ่ๆ ก็สามารถนำไปเสียบกิ่งกับเพรมน่าไทยได้ ข้อดีอีกข้อของต้นเพรมน่าไทยคือซากจะแข็งและสวยมาก แหล่งเพรมน่าไทยส่วนมากจะอยู่ทางภาคใต้ของไทยครับ ทรงเกาะหิน ก็คือส่วนรากของเขาเกาะอยู่กับหิน ซึ่งเป็นการจำลองต้นไม้ที่เกิดอยู่บนก้อนหินหรือหน้าผานั่นเองครับ รากของเขาจะพยายามชอนไชลงมาพื้นดินด้านล่างเพื่อหาอาหารครับ
ส่วน 2 ต้นสุดท้ายนี้จะเป็นบอนไซชิมปากุ(shimpaku bonsai)และบอนไซสนดำญี่ปุ่น(black pine bonsai)ตามลำดับครับ
บอนไซ 2 ชนิดนี้จะเป็นไม้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไม้ของทางเพจ "่บอนไซ ไม้จิ๋ว" มาร่วมจัดแสดงครับ >>https://www.facebook.com/Bonsaimaijiew
สุดท้ายนี้ผมขอประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดประกวดบอนไซภาคเหนือด้วยนะครับ ว่าจะมีการจัดงานขึ้นในวันที่ 20 - 21 พฤษภาคม 2566 ณ สวนไม้ไทยพ่อเลี้ยงหมื่น จ.ลำพูน ซึ่งจะเปิดรับบอนไซจากทั่วประเทศ จัดโดยชมรมคนรักบอนไซเชียงใหม่-ลำพูน และภาคเหนือร่วมมือกับสมาคมบอนไซไทย