ไตรเพทศาสตร์ คืออะไรมีอะไรบ้าง?
เป็นความรู้ ๓ อย่าง เป็นชื่อคัมภีร์แสดงลัทธิดั้งเดิมของพราหมณ์ ได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท ซึ่งกษัตริย์อินเดียสมัยก่อนนิยมศึกษา
ฤคเวท (สันสกฤต: ऋग्वेद, ฤคฺเวท, Rigveda) เป็นคัมภีร์เล่มแรกในวรรณคดีพระเวท แต่งขึ้นเมื่อราว 3000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นตำราทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ประกอบไปด้วยบทสวดที่วางท่วงทำนองในการสวดไว้อย่างตายตัว กล่าวถึงบทสรรเสริญคุณ อำนาจแห่งเทวะ และประวัติการสร้างโลก รวมถึงหน้าที่ของพระพรหมผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่ง ซึ่งจะใช้ในพิธีการบรวงสรวงเทพเจ้าต่างๆ ของชาวอารยัน ตามประเพณีของฮินดูแล้ว การแบ่งหมวดหมู่ของคัมภีร์พระเวทนี้ วยาส ( ผู้แต่งมหากาพย์ มหาภารตะ ) เป็นผู้ทำขึ้นโดยรับคำสั่งจากพระพรหมณ์ การจัดรวบรวมบทสวดในคัมภีร์ฤคเวทนี้ เรียกว่า ฤคเวทสังหิตา มีบทสวดทั้งหมด 1,028 บท เป็นหนึ่งในคัมภีร์ทั้งสี่ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเรียกรวมกันว่า "พระเวท" และนับเป็นบทสวดที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ เนื้อหาด้านชาติพันธุวิทยาและภูมิศาสตร์ที่ปรากฏในฤคเวทนั้น เป็นหลักฐานแสดงว่าฤคเวทนั้นมีมานานกว่า 3,000 ปีก่อนคริสตกาล
ยชุรเวท (สันสกฤต ยชุรฺเวท, यजुर्वेद) เป็นหนึ่งในสี่แห่งคัมภีร์พระเวทในศาสนาพราหมณ์ฮินดู มาจากศัพท์ ยชุสฺ (บทสวดด้วยพิธีกรรม) และ เวท (ความรู้) ประมาณกันว่าประพันธ์ขึ้นเมื่อราว 1,400 - 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนหลักของคัมภีร์นี้เรียกว่า "ยชุรเวทสัมหิตา" มีคาถา หรือมันตระ ที่จำเป็นแก่การกระทำพิธีสังเวยตามความเชื่อในศาสนาสมัยพระเวท และมีการเพิ่มเติมคำอธิบายว่าด้วยการประกอบพิธีต่างๆ
สาขา
ยชุรเวทสัมหิตามักจะแบ่งเป็นสองสาขา คือ ศุกล (ขาว) และ กฤษณ (ดำ) มักเรียกกันว่า ยชุรเวทขาว และยชุรเวทดำ ตามลำดับ ทั้งสองคัมภีร์มีบทร้อยกรองที่จำเป็นแก่การประกอบพิธี แต่กฤษณยชุรเวท รวมร้อยกรองส่วนอธิบายขยายความที่เกี่ยวข้อง (พราหมณะ) เข้าไว้ด้วย ส่วนศุกลยชุรเวทนั้นมีคัมภีร์พราหมณะแยกต่างหาก มีชื่อว่า "ศตปถ พราหมณะ"
สามเวท (ภาษาสันสกฤต: सामवेद, sāmaveda, จากคำว่า สามานฺ "บทเพลง" + เวท "ความรู้"), เป็นคัมภีร์พระเวทอันดับที่สอง (ตามลำดับที่ถือโดยทั่วไป) ในบรรดาพระเวททั้งสี่ นับเป็นคัมภีร์ฮินดูที่สำคัญและเก่าแก่มาก เนื้อหาส่วนที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีความสำคัญและความเก่าแก่รองจากคัมภีร์ฤคเวท เนื้อหาประกอบด้วยรวมบทสวด (สังหิตา) และร้อยกรองอื่นๆ โดยนำมาจากฤคเวท (ยกเว้น 75 บท) เพื่อใช้เป็นบทร้องสวดเป็นทำนองตามพิธีกรรม เรียกว่า "สามคาน" สวดโดยนักบวชที่เรียกว่า "อุทคาตา" ขณะทำพิธีคั้น กรอง และผสมน้ำโสม เพื่อถวายเทพเจ้า
อ้างอิงจาก: Thaiwikipedia