การจำแนกเพศปูและการผสมพันธุ์ (กลุ่มปูแสม ปูเปี้ยว)
สวัสดีครับนักอ่านและผู้สนใจทุกๆ ท่าน วันนี้กระผมจะมานำเสนอวิธีการเพาะพันธุ์ปูกลุ่มปูเปี้ยว ปูแสม และปูสวยงามขนาดเล็กกันนะครับ
การจำแนกเพศของพวกปูนั้นก็สำคัญ โดยการดูพ่อแม่พันธุ์ปูและข้อพึงคำนึงควรดูดังนี้
1. พ่อพันธุ์ต้องตัวใหญ่ สมบูรณ์ ก้ามไม่หัก ตาหลุดหรือขาขาด ปูตัวผู้ทุกชนิดจะมีตะปิ้งทรงสามเหลี่ยม ส่วนแม่พันธุ์ต้องมีตะปิ้งใหญ่ทรงสี่เหลี่ยม ลำตัวอ้วนท้วนสมบูรณ์ไร้ซึ่งอาการฉีกขาดของอวัยวะ
2. ปูกลุ่มปูเปี้ยว ปูแสม จะมีพฤติกรรมการเก็บไข่ไว้ดูแลที่ตะปิ้งอันเป็นแผ่นปิดของอวัยวะสืบพันธุ์ และจะปล่อยไข่เหล่านี้ลงน้ำทะเล ถึงแม้กลุ่มปูแสมบางชนิดจะอาศัยนอกน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มได้ เช่น ปูบาติก หรือ ปูแวมไพร์ ก็ควรเตรียมภาชนะใส่น้ำทะเลที่ปราศจากเชื้อโรคและคลอรีนให้ปูใช้ในการสลัดไข่
3. ไม่ควรมีปูตัวผู้มากกว่าปูตัวเมีย เพราะตัวผู้นั้นก้าวร้าวและจะมีแรงขับมากกว่าตัวเมีย อาจจะทะเลาะกันจนถึงขั้นฆ่ากันได้ และเมื่อเสร็จจากการปล่อยไข่ลงไปในภาชนะน้ำทะเลแล้ว ควรแยกพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อเพาะเลี้ยง
สำหรับขั้นตอนการเตรียมถังหรือบ่อผสมพันธุ์มีดังนี้
1. ถังขนาด 100 ลิตร (10 แกลลอน/ ใช้ตู้กระจกจะเห็นถึงสภาพข้างในได้) ปูตัวเมีย 3 ตัว กับปูตัวผู้ 1 ตัว ต้องมีพื้นทรายหรือเลนโคลนลาดลงไปในอ่างน้ำตื้น อาจจะมีพวกวัตถุอย่างก้อนหินให้ปูปีนป่ายได้ ปิดฝาระวังไม่ให้ปูหนีออกจากถังเพาะ
2. น้ำทะเลข้างในควรมีค่าความเค็ม 0.010 ppt (ซื้อเครื่องวัดความเค็มได้ที่ร้านขายอุปกรณ์ปลาสวยงามของปลาทะเล)
3. เมื่อปล่อยลงไป ใช้เวลาประมาณ 8-24 ชั่วโมง ปูตัวผู้จะเล้าโลมก่อนขึ้นคร่อมเพื่อผสมพันธุ์ตัวเมีย และจะสลับไปทำเช่นนั้นเรื่อยๆ
4. แยกปูตัวผู้ออกเมื่อมันผสมกับปูตัวเมียทั้งหมดจนครบแล้ว จากนั้นใช้เวลาสามวันที่ปูตัวเมียจะเริ่มดันไข่ออกมาห่อนอกตะปิ้ง
5. ไข่ของปูกลุ่มนี้จะมีสีแดงเป็นเม็ดเล็กๆ นับแสนฟอง ใช้เวลาสามวันจนกว่าไข่จะพร้อมฟัก แม่ปูจึงจะเดินลงไปที่แหล่งน้ำและสลัดไข่จนหมด ให้รอประมาณ 8-24 ชั่วโมงจนไข่หมด นำแม่ปูมาตรวจสอบก่อนจะย้ายออกให้แน่ใจว่าได้สลัดไข่ไปหมดแล้ว
6. ตัวอ่อนควรมีอ็อกซิเจน อาจจะให้เครื่องกรองน้ำหรือหัวเป่าอากาศทำให้เกิดอากาศที่ดีและขจัดของเสียในบ่อเพาะฟัก ทำการดูดน้ำที่มีไข่ด้วยสายยางลักน้ำไปไว้ในบ่ออนุบาล
ลูกปูในระยะนี้จะมีสภาพเป็นแพลงก์ตอนที่ล่องลอย เรียกว่า โซเอีย (Zoea) ซึ่งกรองกินอาหารในน้ำ มีระยะเวลาประมาณ 10-12 วันก็จะเข้าสู่ระยะ เมกาล็อปปา (Megaloppa) การอนุบาลมีดังนี้
1. สัปดาห์แรกให้ทำการให้อาหารด้วยโรติเฟอร์เพื่อกระตุ้นการกินอาหาร จากนั้นจึงให้อาหารด้วยอาทีเมียร์ระยะแรกฟัก (ไรน้ำเค็ม) หรือสาหร่ายสีเขียวกลุ่มสไปรูลิน่าชนิดผงละลายน้ำ คอยให้ระบบเป่าอากาศควบคุมไว้ไม่ให้เกิดการขาดอ็อกซิเจน
2. รักษาค่าความเค็มตลอดระยะประมาณ 0.010 ppt ให้คงที่
ระยะเมกาล็อปปา (Megaloppa) จะมีขาและเริ่มมีรูปร่างเปลี่ยนไปจนเริ่มคล้ายปูมากขึ้น ระยะนี้จะกินเศษตะกอนอินทรีย์วัตถุที่ใหญ่ขึ้นมาได้
1. ให้อาหารโปรตีนสูงด้วยปลาบด ผงหัวอาหารหรือไรน้ำเค็ม ควรมีกิ่งไม้ หิน หรืออวนในถังอนุบาลให้ปูเกาะพักพิง ใช้เวลาประมาณ 10 วันก็จะลอกคราบไปเป็นลูกปู
2. รักษาค่าความเค็มตลอดระยะประมาณ 0.010 ppt ให้คงที่ และยังไม่ลืมรักษาความสะอาดของน้ำและเติมอ็อกซิเจนเป่าลมไปตลอด
3. แยกลูกปูที่ฟักออกมาพร้อมจำหน่ายได้ ให้เลือกตัวที่แข็งแรงและสมบูรณ์ ระยะนี้จะเรียกว่า ระยะลูกปู (Young Crab) ทั้งนี้ ปูแต่ละชนิดมีระยะลูกปูและสีสันต่างกัน ใช้เวลาในการเลี้ยง 4-5 เดือนก็จะได้ปูขนาดพ่อแม่พันธุ์
จะเห็นได้ว่า การเพาะปูนั้น ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากถ้าเตรียมตัว สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถนำมาใช้เป็นวิธีในการประกอบอาชีพได้เช่นกัน สำหรับวันนี้ ผมขอลาไปก่อน สวัสดี