เมื่อการร่ายคาถาใช้เวลานานเกินไป ไสยศาสตร์ไทย(สยาม)มีวิธีแก้ปัญหานี้อย่างไร?
ตามสื่อบันเทิงในยุคปัจจุบัน มักแสดงรูปแบบของการร่ายคาถาด้วยการพรรณนาข้อความเป็นประโยคที่มีเนื้อหาค่อนข้างยาว และบ่อยครั้งที่คาถานั้นไม่ได้สัมฤทธิ์ผลในการร่ายแค่รอบเดียวแต่ต้องร่ายต่อเนื่องวนซ้ำหลายๆ รอบ รึบางครั้งก็มีกำหนดจำนวนรอบที่ต้องร่ายให้ครบไม่ขาดตอนจึงจะสัมฤทธิ์ผล ซึ่งนี่นับเป็นจุดอ่อนที่สำคัญมากที่สุด
หากเป็นในยามปกติการยอมเสียเวลาซัก ๕-๑๐ นาทีเพื่อการร่ายคาถาที่มีเนื้อหายาวเหยียดวนซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ รอบอาจทำได้ง่ายๆ สบายๆ ไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องกังวล แต่หากเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เวลาเพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถใช้ชี้เป็นชี้ตายล่ะจะทำยังไง?
ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีเวลาจำกัดมักทำให้เกิดความลนลานตื่นตระหนก โอกาสในการสับสนจนร่ายคาถาผิดๆ ถูกๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายยากหลีกเลี่ยง และการใช้เวลาร่ายคาถาที่นานเกินไปยังเปิดช่องว่างให้ผู้ร่ายคาถานั้นถูกโจมตีจนร่วงลงไปกองก่อนใครได้ง่ายมากๆ ด้วยเหตุนี้ตามสื่อบันเทิงทั่วไปจึงมักใส่ตัวละครผู้ช่วยไว้คอยขัดขวางใครก็ตามที่จะเข้ามารบกวนการร่ายคาถาเพิ่มเข้ามาในเรื่องจนเกิดเป็นฉากต่อสู้ลุ้นระทึกให้คาดเดากันไปว่าการร่ายคาถาจะสำเร็จรึไม่ ซึ่งก็นับเป็นมาตรการป้องกันรูปแบบหนึ่งแต่ก็ไม่รัดกุมพอ และอาจทำให้สูญเสียสิ้นเปลืองตัวละครโดยไม่จำเป็นอีกด้วยแม้จะช่วยยืดเหตุการณ์ในเรื่องให้ยาวขึ้นได้บ้างก็ตาม ว่าแต่คาถาแต่ละบทมีที่มาจากไหนบ้าง?
มนตร์คาถา ดั้งเดิมเริ่มต้นจากบทกวีสรรเสริญเทพเจ้า ผู้มีฤทธิ์ วีรบุรุษ ธรรมชาติ ฯลฯ ที่ได้รับความเคารพนับถือ อย่างของพุทธก็มีหลายบทที่ได้มาจากเหตุการณ์ในชาดกและสมัยพุทธกาลนำมาผูกย่อจับใจความสำคัญในแต่ละเหตุการณ์จนกลายเป็นมนตร์คาถาที่ให้ผลลัพธ์ตรงตามรึใกล้เคียงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นรึถูกบันทึกไว้ บ้างก็ผูกขึ้นจากเหตุการณ์ตามตำนาน-วรรณคดี-มหากาพย์
คาถาเหล่านี้จึงมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว(มาก)เพราะกำเนิดมาจากบทกวีและโศลกฉันทลักษณ์ที่ใช้ขับร้องเพื่อเคารพสรรเสริญมาก่อน
ชาวสยามที่เล็งเห็นว่าคาถาเหล่านี้มีความยาวที่มากเกินไปไม่เหมาะแก่การใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉินจึงนำเอาหลักฉันทลักษณ์ในการเขียนกลบทอักษรเข้ารหัสมาช่วยกำกับปรับใช้ในการประดิษฐ์คาถาให้สั้นและกระชับมากยิ่งขึ้นจนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า "หัวใจพระคาถา"
หัวใจพระคาถา นับเป็นพัฒนาการในวงการไสยศาสตร์ของชาวสยามยุคโบราณที่สัมพันธ์กับศาสตร์และวิทยาการแขนงอื่นๆ หากให้กล่าวโดยสรุป หัวใจพระคาถา ก็คือการนำเอาบทสวดพุทธมนตร์รึคาถาซึ่งเป็นภาษาบาลี-สันสกฤตที่มีเนื้อหายาวมากๆ มาถอดย่อให้เหลือเป็นคำสั้นๆ เพียงไม่กี่พยางค์ คะเนว่าผลที่ได้จากการประดิษฐ์หัวใจพระคาถานี้มีหลากหลายด้าน ไล่ตั้งแต่การเขียนและสักยันตร์ซึ่งจะช่วยประหยัดเนื้อที่จารึกลงอักขระได้อย่างมหาศาล จากจำนวนอักขระยาวเหยียดหลายบรรทัดก็ถูกย่อลงมาจนเหลือแค่พยางค์สั้นๆ เพียงไม่กี่คำเท่านั้น อีกทั้งยันตร์บางชนิดยังใช้วิธีสลับตำแหน่งตัวอักษรซึ่งเป็นลูกเล่นสำคัญในการเขียนกลบทอีกด้วย และยังช่วยประหยัดเวลาในการร่ายคาถาให้กระชับรวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายนาทีในการร่ายก็กลายเป็นการใช้เวลาร่ายเพียงไม่กี่วินาที เหมาะแก่การใช้งานในสถานการณ์คับขันฉุกเฉินเฉพาะหน้าที่ไม่มีเวลามากพอให้ร่ายคาถายาวจนจบครบทั้งบทได้
นอกจากการประดิษฐ์หัวใจพระคาถาด้วยการถอดเป็นคำย่อไม่กี่พยางค์แล้ว ชาวสยามก็ยังสามารถย่อหัวใจพระคาถาให้กระชับสั้นเข้าได้อีก ด้วยการแปลงหัวใจพระคาถาให้กลายเป็นชุดรหัสตัวเลขไม่กี่หลัก ซึ่งก็นับเป็นหัวใจพระคาถาอีกรูปแบบเช่นกัน
อันหัวใจพระคาถานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ในการใช้ภาษาและฉันทลักษณ์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวสยามโบราณในการประดิษฐ์คิดค้นกลบทข้อความเข้ารหัสที่สามารถถอดประโยคซึ่งมีความยาวมากๆ ให้เหลือเพียงคำย่อสั้นๆ เพียงไม่กี่พยางค์เท่านั้น และยังเป็นชุดข้อความเข้ารหัสที่สามารถใช้ได้ทั้งในการพูดและเขียนอีกด้วย