หมีน้ำ (Water bear) สิ่งมีชีวิตสุดทรหดที่สุดในโลก
หมีน้ำ (Water bear) สิ่งมีชีวิตสุดทรหดที่สุดในโลก
หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า ขึ้นเขาให้ระวังหมี แต่จะแปลกใจไหม ถ้าจะมีอีกคำว่า ลงน้ำระวังเจอหมี!!
หมีอะไรอยู่ในน้ำ? เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีคำถามแบบนี้แน่นอน วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ หมีตัวอ้วนๆ ที่พบได้แค่ในน้ำ กันค่ะ
หมีน้ำ (Water bear) คือ สิ่งมีชีวิตสุดน่าทึ่งที่ถูกค้นพบครั้งแรกโดย โยฮานน์ ออกุสต์ อิปพาเรียม เกิทเซอ นักวิทยาศาสตรชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1773 โดยหมีน้ำ มีชื่อสามัญว่า ทาร์ดิกราดา (Tardigrada) หรือ ทาร์ดิเกรด (Tardigrade) เป็นไฟลัมหนึ่งของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tardigrada
สำหรับความพิเศษของ หมีน้ำ ก็คือการได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความทรหดที่สุดในโลก โดยเราสามารถพบพวกมันได้ตั้งแต่ที่ยอดเขาหิมาลัยที่ความสูงกว่า 6,000 เมตร จนถึงในทะเลลึกถึง 4,000 เมตร มีรูปร่างเหมือนหนอนตัวอ้วน ๆ มีรูปร่างเป็นปล้อง มีขนาดเล็กจนแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เมื่อโตเต็มที่มีขนาดเพียง 1.5 มิลลิเมตรเท่านั้น
ปัจจุบันมีความเชื่อกันว่า หมีน้ำมีมากกว่า 1,000 สปีชีส์ ส่วนใหญ่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ในสภาวะที่โหดร้ายสุดขั้วสำหรับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในภาวะที่ไร้อากาศ ไร้น้ำ มีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือด หรือมีกัมมันตรังสีเข้มข้น โดยมากเป็นพวกกินพืช ส่วนน้อยกินแบคทีเรีย และกินสัตว์ และสามารถพบได้ทั่วโลก
นอกจากนี้แล้ว หมีน้ำยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้ในสภาวะจำศีลในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีน้ำเลยแม้สักหยดเป็นเวลานานหลายสิบปี หรือในบางกรณีอาจนานนับร้อยปี และจะสามารถฟื้นกลับคืนมาเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาได้อีกครั้งเมื่อได้รับน้ำอีกด้วย ทั้งนี้ มีรายงานว่า ซากฟอสซิลของหมีนํ้าที่ค้นพบนั้น มีอายุนานถึง 500 ล้านปีเลยทีเดียว