หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ต้นกำเนิดไทอาหม

โพสท์โดย อับดุล รอเเย๊ะส์


อาณาจักรมาวหลวงดินแดนดั้งเดิมของไทอาหมบริเวณตอนใต้ของจีนเคยอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าฟ้าน่านเจ้า มาก่อน ต่อมาเมื่อน่านเจ้าถูกทัพมองโกลราชวงศ์หยวนตีแตก หัวเมืองต่างๆ ก็กระจัดกระจายจากกัน จากนั้นหัวเมืองใหญ่กว่าก็เข้ารุกรานหัวเมืองเล็กเพื่อขยายอำนาจ ทำให้มีการรบพุ่งกันอยู่ระยะหนึ่ง จนสุดท้ายเจ้าเสือข่านฟ้าก็รวบรวมหัวเมืองแถบลุ่มแม่น้ำมาวได้ จึงตั้งตัวเป็นกษัตริย์ แต่ก็ต้องยอมอ่อนน้อมให้กับ "มองโกล" ในยุคกุบไลข่านซึ่งยุคนั้นมองโกลปกครองแผ่นดินจีน ในราชวงค์ "หยวน"
ต่อมามองโกลถูกราชวงศ์หมิงขับไล่ พวกมาวก็ตั้งตัวเป็นอิสระ ไม่ยอมขึ้นกับจีน จีนจึงเข้าปราบปรามจนสำเร็จ ในรัฐสมัยจักรพรรดิจูหยวนจาง อาณาจักรของพวกมาวก็สิ้นสุดลงเท่านี้ ...
สำหรับการขยายอำนาจลงมาทางใต้นั้น ปรากฏว่ามีการทำศึกตอบโต้กันกับล้านนาอยู่บ้าง แต่เป็นการรบแย่งชิงพื้นที่ชายขอบระหว่างกันเสียมากกว่า ไม่สามารถขยายอำนาจลงมาได้เป็นชิ้นเป็นอัน ... ซึ่งต่อมาก็ทำให้ล้านนาต้องให้ความร่วมมือกับจีนเพื่อปราบปรามพวกมาว จนฝ่ายมาวต้องล่มสลายไปดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ...
พงศาวดารไทใหญ่เขียนขึ้นหลังจากเหตุการณ์เหล่านี้หลายปี มีการแต่งเติมเพิ่มเนื้อหาไปอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลตำนานทางพุทธศาสนาจากทางล้านนาไปพอสมควรครับ
สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมนับเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง ในกระบวนการปลูกสร้าง และกระตุ้นสำนึกร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านรูปแบบของตำนาน ปรัมปราคติ พิธีกรรม ตลอดจนการอ้างอิงบันทึกทางประวัติศาสตร์ กระทั่งก่อรูปเป็นสัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์ เพื่อนำไปสู่การนิยามตนเองท่ามกลางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์หลายหลากในปัจจุบัน โดยอาจเป็นไปในลักษณะผสานกลมกลืนอย่างดีหรือเต็มไปด้วยคำถามให้วิพากษ์วิจารณ์ก็ได้
พิจารณาตามหลักฐานแล้วน่าเชื่อว่าอาณาจักรไทใหญ่น่าจะมีอำนาจปกครองจริงแค่ในแถบพม่าตอนบน ไปถึงมณฑลหยฺวินหนานบางส่วนเท่านั้น
ส่วนเรื่องหัวเมืองขึ้นของมาวหลวงในสมัยเจ้าสามหลวงฟ้าที่กล่าวเห็นจะเป็นพงศาวดารไทยใหญ่ขยายความจนมีอาณาเขตกว้างขวางเกินจริงครับ เรียกได้ว่ามีอาณาเขตครอบคลุมทุกอาณาจักรในแถบนี้ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เพราะกินตั้งแต่ ต้าหลี่ฟู ไทใหญ่ ล้านนา ล้านช้าง พม่า มอญ ไทย เขมร มณีปุระ ยะไข่ ทวาย มะริด ซึ่งไม่เคยพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีอาณาจักรใดในแถบนี้ทำเช่นนั้นได้ครับ
และบางเมืองอย่างเมืองละแวกนั้น ในสมัยอาณาจักรมาวหลวงนั้นยังไม่กำเนิดด้วยซ้ำครับ เห็นจะเป็นด้วยพงศาวดารไทยใหญ่นั้นเรียบเรียงในสมัยหลัง และคงต้องการให้เห็นว่าเดิมอาณาจักรของไทใหญ่นั้นยิ่งใหญ่เกรียงไกรแต่ถูกรุกรานจนล่มสลายในสมัยหลัง เพื่อเป็นการแสดงความภาคภูมิใจของชนชาติในอดีต
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้เรียบเรียงพงศาวดารไทใหญ่เองก็ทรงวิจารณ์เรื่องนี้เอาไว้ว่า
"แต่ชั่วแต่ชายตาไปแลดูนามเมืองออกบางเมือง เช่น ยะข่าย ตลีฟู ฯลฯ ก็น่าจะร้องตะโกนบอกอยู่ในตัวเองแล้วว่าโก่งเกินจริงไปมาก ๆ"
และ "เมืองที่เจ้าสามหลวงฟ้าชิงชัยได้นี้ น่าจะรอเทียบดูกับบัญชีเรื่องนี้ยุคเดียวกันในพงศาวดารแสนหวีได้ แต่ยิ่งเอื้อมออกไปโดยมากกว่านี้ขึ้นไปเสียอีก ขอโทษเถิดอย่างไรก็ไม่ทราบ ถึงไม่มีหลักอะไรที่จะอ้าง แต่พออ่านอย่างไร ใจให้นึกแต่ว่าดูเหมือนคนเขียนพงศาวดารครั้งนั้นรู้จักนามเมืองอะไรบ้างก็ทิ่ม ๆ ลงไปหมด เอาแต่ให้มาก ๆ ยิ่งมากเมืองยิ่งดี ถ้าผู้เขียนพงศาวดารไทยเมาอยู่จนบัดนี้ และยังคงความนิยมอยู่อย่างเก่า จะไม่ปลาดอะไรเลยที่จะได้เห็นนามเมืองลอนดอน ปารีส เบอร์ลิน ชิคาโก โตกิโย เป็นต้นลงไปด้วยนั้น แต่ไม่ต้องพบนามเมืองอีเก้ง เมืองแกงกะรูด้วยนั้น ก็บอกให้เรารู้ได้ว่า ผู้เขียนมีความฉลาดอยู่บ้าง"
จากเอกสารจีนและพม่าทำให้มองเห็นถึงความยิ่งใหญ่ความเข้มแข็งเกรียงไกรของอาณาจักรเมืองมาวหลวง(ไทใหญ่)ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์เจ้าเสือข่านฟ้ามหาราชเป็นถึงจักพรรดิ์มิใช่พระราชาธรรมดาอาณาเขตที่พระองค์ทรงขยายไปนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมีบันทึกใว้ในหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มทั้งของจีน,พม่า,ไทย,และไทใหญ่
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้า (Chao-Lung Sukapha) ผู้สถาปนาราชวงศ์อาหม ได้ชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวอัสสัม
แม้ว่าเจ้าหลวงเสือก่าฟ้าจะไม่เคยระบุพระองค์ว่าเป็น อาหม
แต่พระนามเรียกขานของพระองค์และพสกนิกรของพระองค์ได้ถูกมอบให้โดยชาวพื้นเมือง และแม้แต่ชื่อว่า อาสม (Asom) ก็เป็นที่ปรากฏโดยทั่วไปภายหลังจากการเสด็จมาสู่เมืองกัมรูปของเจ้าหลวงเสือก่าฟ้า
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้านี่แหละที่เป็นผู้เพาะเชื้อของลัทธิชาตินิยมและวัฒนธรรมของอัสสัม พระองค์จึงเจิดจรัสแสงเพียงหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์ของอัสสัมดุจว่าดาวประกายพฤกษ์
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าเป็นโอรสองค์ที่สามของเจ้าพูช้างขาง หรือ เจ้าช้างยืน ซึ่งมีเชื้อสายของกษัตริย์เมืองรีเมืองรามแห่งราชวงศ์ขุนลอง
เจ้าพูช้างขาง ซึ่งอภิเษกสมรสกับราชธิดาของเจ้า"ไทปุง"แห่งเมืองเชียงแส ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าแห่งเมืองมิตกลิ่งดาว(เมืองมิตเก่งลาว) ใน ค.ศ. 1202
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าซึ่งมีพระชันษา 23 พรรษา ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ในราชอาณาจักรเมืองมิตเก่งลาวในปี ค.ศ. 1209 ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยพระปรีชาสามารถเป็นเวลา 18 ปี
แต่หลังจากนั้นพระองค์ทรงผิดหวังเพราะพระองค์จะต้องยินยอมมอบเอกราชของราชอาณาจักรของพระองค์แก่เจ้าเมืองมาวหลวง ของเจ้าเสือข่านฟ้า พระญาติ ซึ่งกำลังเป็นใหญ่ในยุคนั้น
และข้อนี้ก็อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พระองค์มีความปรารถนาที่จะละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของพระองค์มา
แต่สาเหตุเฉพาะหน้าที่ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเมืองของพระองค์มานั้น คือ ความขัดแย้งใน ปี ค.ศ. 1227 ระหว่างเสือข่านฟ้ากับผู้ปกครองแคว้นจุนลุง(หรือ ยุนลง หรือ ยุนลอน) เกี่ยวกับพรมแดนของสองราชอาณาจักร ซึ่งพระองค์ถูกขอร้องให้ไปมีส่วนร่วมรบด้วย แต่พระองค์ไม่ได้ตอบรับคำเรียกร้องของเสือข่านฟ้านั้น
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าทรงทราบเป็นอย่างดีว่า "เสือข่านฟ้า" มีความเข้มแข็งกว่าพระองค์มาก พระองค์จึงได้ตัดสินพระทัยละทิ้งบ้านเมืองไปอยู่ที่เมืองมากุง ซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าชายน้อยสานฟ้า ทรงปกครองอยู่
เมื่อตอนเจ้าหลวงเสือก่าฟ้าเสด็จออกจากราชอาณาจักรเมืองลุง (ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เขตปกครองตนเองดีหงไดสิงโพ (Dehong Dai-Singpho Autonomous prefecture) ในมณฑลยูนนานของประเทศจีน) นั้น พระองค์ได้พากำลังพลจำนวนมากมาด้วยเป็นทหารไทใหญ่ 9,000 นาย ซึ่งประกอบด้วยพลทหารม้า และพลทหารราบ พร้อมปืนใหญ่ ปืนเล็กและกระสุนดินดำ เพื่อเตรียมพร้อมในการสู้รบกับอริราชศัตรูของพระองค์ นอกจากกองทหารเหล่านี้แล้วก็ยังมีผู้ติดตามอื่นๆรวมทั้งข้าทาสบริวารของพระองค์ก็ได้ติดตามมาอีกจำนวนหนึ่งด้วย
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากจากเจ้าน้อยสานฟ้า ซึ่งได้อัญเชิญพระองค์และกองทัพเข้าไปพำนักอยู่ในนครหลวง
เมื่อเจ้าน้อยสานฟ้าได้ทรงทราบจากเจ้าหลวงเสือก่าฟ้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในเมืองเมาลุงและเหตุผลที่ทำให้เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าต้องละทิ้งบ้านเมืองมาเช่นนี้แล้ว เจ้าน้อยสานฟ้าก็มีพระประสงค์จะให้เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าได้มีราชอาณาจักรใหม่ปกครองทางด้านตะวันตกของแคว้นนรา ที่อยู่ในพื้นที่ชินด์วินซึงตอนนั้นเป็นที่อาศัยของชนเผ่าต่างๆ
ประจวบกับเวลานั้น เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าได้รับคำเชิญจากขุนพลสามลองฟ้า ก็จึงได้เสด็จไปยัง รัฐอัสสัม (ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อว่า เสามาร์ (Saumar)ของอินเดีย
ในระหว่างทางเสด็จไปสู่ เมือง ทุน สุน คำ(Mong Dun Sun Kham) นั้น เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าได้สู้รบกับผู้ที่มาขัดขวางอยู่บ่อยครั้งและก็มีชัยชนะทุกครั้ง สำหรับพวกที่ยอมอ่อนน้อมต่อพระองค์ก็จะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในสถานที่อยู่เดิมต่อไปได้แต่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นและต้องส่งราชบรรณาการไปให้ และในที่สุดเมื่อได้เสด็จไปถึง เมืองลักนี เมืองกู่ พระองค์ก็ได้พบสถานที่เหมาะสมที่เจ้าตัมดอย (ชไลเทพ) จึงได้สถาปนาเมืองนี้เป็นเมืองหลวงถาวรในปี ค.ศ. 1252 ทรงปกครองราชอาณาจักรแห่งนี้เป็นเวลา 18 ปี และเรียกราชอาณาจักรของพระองค์ว่า เมือง ทุน สุน คำ (แปลว่า ดินแดนที่เต็มไปด้วยสวนทอง หรือ ดินแดนผลไม้ทอง) ซึ่งมีอาณาเขตไปไกลจรดภูเขาปาดไก่ ห้วงของรัชสมัยในการปกครองพระองค์ที่เมือง เสามาร์ปีท(Saumar Peet) รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 36 ปี และพระองค์ได้เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 77 พรรษา หรือในปี ค.ศ. 1268
ปัจจุบันรอบๆนครหลวงชไลเทพ (Charaideo) มีเมืองและหมู่บ้านหลากหลายแห่ง มีถนนที่สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นนาฮอร์ มีคูคลองชลประทาน มีสวนมะม่วงและสวนขนุนอยู่เต็มไปทั่ว อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของประชาชนในเมืองนี้ในอดีตกาล
ระบบการบริหารและการปกครองที่กษัตริย์เสือก่าฟ้านำมาใช้ในราชอาณาจักรที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ของพระองค์นั้น เป็นระบอบราชาธิปไตยที่กษัตริย์มีพระราชอำนาจอย่างจำกัด (limited monarchy) โดยยึดหลักการสืบราชสันตติวงศ์โดยสายเลือดเพศชาย พระองค์มีเสนาบดี 2 คน ซึงทำหน้าที่ช่วยเหลือพระองค์ในการบริหารประเทศ คือ เสนาบดีบุร์ฮาโคฮาอิน และ เสนาบดีโบร์โคฮาอิน
ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น กษัตริย์เสือก่าฟ้ามีสัมพันธไมตรีกับพวกเผ่านาคา เผ่าโมราน และเผ่าโบราฮี เป็นต้น และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกัน พระองค์ก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าสาวที่เป็นเจ้าหญิง 4 พระองค์จากราชสกุลโบราฮี และราชสกุลโมราน กษัตริย์เสือก่าฟ้าเป็นกษัตริย์ที่มีความกล้าหาญและมีสายพระเนตรยาวไกลทรงกระชับสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับดินแดนที่พระองค์พิชิตมาได้โดยใช้เครื่องมือทางการทูตยิ่งกว่าจะใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ
กษัตริย์เสือก่าฟ้าทรงมีศาสนาของพระองค์เอง คือการบูชาบรรพบุรุษ (Ancestor Worship) แต่พระองค์ก็มิได้ทรงบังคับให้พสกนิกรของพระองค์ต้องมาพูดภาษาไทของพระองค์หรือให้มานับถือศาสนาของพระองค์แต่อย่างใด พระองค์ทรงรับสั่งให้ราชบัณฑิตทำหน้าที่จารึกทุกสิ่งทุกอย่างลงในพงศาวดารของอาหม เรียกว่าพงศาวดารบุราณจี (Buranji)
กษัตริย์เสือก่าฟ้าทรงปฏิบัติตามประมวลกฎหมายของเล็งดอน (Lengdon) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของพระองค์ ในการบริหารประเทศ ที่สอนไว้ดังนี้:
“เจ้าจงเชิดชูและปกป้องคุ้มครองพสกนิกรของเจ้าดุจว่าพวกเขาคือบุตรของตัวเจ้าเอง เจ้าจงใช้ทูตในทางลับไปสืบความเพื่อให้ได้รู้ความเป็นอยู่ของพวกเขา เจ้าจงนำอาชญากรที่โทษหนักมาลงโทษให้สาสมกับความผิด เจ้าจงให้ความเคารพในผู้ที่มีคุณธรรม เจ้าจงบำรุงเลี้ยงนักปราชญ์ราชบัณฑิตและสมณะชีพราหมณ์ เจ้าจงเลือกปฏิบัติตามคำแนะนำ 6 ข้อ ( เช่น อย่าปฏิบัติตามคำแนะนำของที่ปรึกษา 2 คนที่ร่วมให้คำปรึกษา แต่ให้ปฏิบัติตามแนะนำของที่ปรึกษาเพียงคนเดียวที่มาให้คำปรึกษาอยู่กับเจ้านั้นสองต่อสอง)
“เจ้าจงหลีกหนีจากผลชั่วของการชะลอการดำเนินมาตรการใดๆที่สมควรกระทำอย่างรีบด่วนในการตัดสินใจของเจ้า เจ้าจงมีแต่ความเที่ยงธรรม อย่าให้ความอยุติธรรมเข้ามาขัดขวางเสีย
“กฎหมายของแผ่นดิน สถาบัน การกระทำ สิทธิ และประโยชน์ของครอบครัวเจ้าต้องให้การสนับสนุน คนชั่วทั้งปวงเจ้าต้องทำการกำราบปราบปราม พวกนักฉกชิงวิ่งราวทรัพย์เจ้าต้องนำตัวมาประจาน ข้าเก่าที่สัตย์ซื่อและเชื่อฟังคำสั่งเจ้าต้องตกรางวัลให้ หากเจ้าสรุปว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะเป็นโทษแก่เจ้าแม้แต่แค่คิดเท่านั้น ก็จงถอดถอนบุคคลนั้นเสีย เจ้าอย่าให้อำนาจอยู่เหนือความยุติธรรม คนที่มีความเข้มแข็งและข่มเหงรังแกผู้อื่นเจ้าต้องพยายามค้นหาให้พบให้จงได้ เมื่อทำได้เช่นนี้บ้านเมืองของเจ้าก็จะมีแต่ประโยชน์และมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น
“จงปรึกษาหารือสมณะพราหมณ์ผู้มีประสบการณ์ในราชสำนักของเจ้า และจงเรียนรู้บทเรียนเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม ความยุติธรรม และการปกครองที่ดีจากคนเหล่านั้น”
นอกจากนั้นแล้ว กษัตริย์เสือก่าฟ้าก็ยังได้ปรึกษาหารือเรื่องต่างๆกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ เช่น เสนาบดีบุรฮาโคฮาอิน และเสนาบดีโบร์โคฮาอิน เป็นต้น แต่ในเวลาจะตัดสินใจจริงๆพระองค์จะตัดสินใจด้วยพระองค์เอง กฎหมายที่นำมาปฏิบัติในระหว่างในรัชสมัยของกษัตริย์เสือก่าฟ้า ไม่ใช่จะมีเฉพาะกฎหมายแบบจารีตนิยม (customary laws) อย่างที่เอ็ดเวิร์ด เกต ตั้งข้อสังเกตไว้เท่านั้น แต่กฎหมายจารีตประเพณีบางอย่างนี้ก็มีความเป็นสากลและเป็นกฎหมายธรรมชาติ ทั้งนี้ก็เพราะกษัตริย์เสือก่าฟ้าเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาและอบรมในทุกด้านของกฎหมายและจารีตประเพณีที่มีอยู่ในสมัยนั้น
กษัตริย์เสือก่าฟ้าเป็นผู้นำอารยธรรมเกษตรกรรมปลูกข้าวมาสู่อัสสัม พร้อมกับได้ทรงสร้างระบบคูคลองและระบบชลประทานในลุ่มแม่น้ำนอนติลูที่เหมาะแก่การเพาะปลูก
ก่อนหน้าที่กษัตริย์เสือก่าฟ้าจะเดินทางเข้ามาในอัสสัมนั้น ประชาชนในดินแดนแถบบี้ทำการเกษตรแบบเผาป่าแบบเลื่อนลอยและปลูกข้าวในนาดอน พระองค์ได้ทำการปรับปรุงดินแดนรกร้างว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้เกิดผลิตผลในทางการเกษตรอย่างไม่มีขีดจำกัด นอกจากนั้นแล้วพระองค์ก็ยังทรงนำการไถนาแบบใช้ควายตัวเดียวลากไถมาใช้ในอัสสัมนี้เป็นบุคคลแรกอีกด้วย
ศิลปะการทอก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ชาวไทอาหมที่นำโดยกษัตริย์เสือก่าฟ้านำมาแนะนำแก่ประชาชนในอัสสัม พวกไทอาหมได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยพวกผู้หญิงไทอาหมจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนี้ พวกผู้หญิงไทยอาหมมีความชำนาญในศิลปะการท่อผ้ามาก สามารถทอผ้าชนิดเศษที่เรียกว่ากะบะ(ผ้ากฐิน)ได้เสร็จภายในคืนเดียวนับตั้งแต่ทำการปั่นด้ายไปจนถึงทอเป็นผ้า มหาตมคานธี รัฐบุรุษของอินเดีย ก็เคยมาเยี่ยมชมการทอผ้าของผู้หญิงไทอาหมในระหว่างการเยือนอัสสัมเมื่อปี ค.ศ. 1923 และกล่าวว่าพวกผู้หญิงสามารถทอผ้าด้วยกี่กระตุกได้สวยงามมาก
ระบบการเขียนประวัติศาสตร์ก็เป็นคุณูปการสำคัญของกษัตริย์เสือก่าฟ้าที่มีต่อวรรณคดีของอัสสัม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าฟ้าลุงเสือก่าฟ้าได้รับสั่งให้ราชบัณฑิตทำการจารึกเหตุการณ์สำคัญๆในรัชสมัยของพระองค์เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นวิธีการโบราณของการบันทึกเหตุการณ์ของพวกไทอาหม แต่ก็มีหลักการเขียนที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ มีการจารึกไว้ในทุกเรื่อง ประโยค วลี และสำนวนที่จารึกไว้ในพงศาวดารชื่อบุราณจี ล้วนเป็นคุณูปการอันล้ำค่าที่มีต่อวรรณคดีของอัสสัม
จากที่ได้พรรณนามาข้างต้นนั้น ก็พอจะเห็นได้ว่า กษัตริย์เสือก่าฟ้าคือบุคคลที่มีความมุ่งมั่นแน่วแน่และเด็ดเดี่ยว พระองค์รักเสรีภาพและสันติภาพ พระองค์เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่มีความกล้าหาญชาญชัยเป็นอย่างยิ่ง จากบุคลิกภาพของพระองค์ที่มีความเป็นอัจฉริยะในประวัติศาสตร์ได้นำไปสู่การแผ้วทางเพื่อสร้างความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสำหรับอัสสัมและสังคมอัสสัม
กษัตริย์เสือก่าฟ้าได้สถาปนากระบวนการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในหมู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายในอัสสัม พระองค์ได้ทรงสร้างมรดกของความสามัคคี ความรู้จักอดทน และการรู้จักอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในท่ามกลางของความไม่ไว้วางใจกัน ความทะนงตัว และความมีอคติ การปะทะกันด้วยความรุนแรง การแตกสามัคคี และการทำลายล้างกันในที่สุด
และในประการสุดท้ายนั้น กษัตริย์เสือก่าฟ้าได้ทรงสร้างยุคใหม่ในประวัติศาสตร์ของอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดำรงคงอยู่ชั่วกาลนาน.
สัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของไทอาหมร่วมสมัยที่สำคัญคือรูปมังกรสิงโตมีปีกที่เรียกว่า "งีเงาคำ" (Ngi Ngao Kham) ที่ปรากฏตัวในหลากรูปแบบ กระจายแพร่หลายมากที่สุด
"งีเงาคำ" นั้นไม่ปรากฏชัดเจนนัก ปัญญาชนชาวไทอาหมอ้างอิงหลักฐานบนแผ่นทองแดงซึ่งเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของรัฐอัสสัม ว่าสัญลักษณ์รูปงีเงาคำนี้ปรากฏเป็นตราพระราชลัญจกรในราชสำนักของกษัตริย์อาหมหลายพระองค์ ได้แก่ เจ้าเสือดินฟ้าหรือจันทรกันตาสิงห์ (Sudinpha, Chandrakant Singh ค.ศ.๑๘๑๐ - ๑๘๑๘) เสือใหญ่ฟ้างำเมืองหรือเคารินาถสิงห์ (Suhitpongpha, Gaurinath Singh ค.ศ.๑๗๘๐ - ๑๗๙๕) และเสือแรมฟ้าหรือราเจตวาสิงห์(Surampha, Rajesvar Singh ค.ศ.๑๗๕๑ - ๑๗๖๙) ส่วนเหรียญในสมัยเสือปาดฟ้า (Supatpha, ค.ศ.๑๖๘๑ - ๑๖๙๖) และเสือขุงฟ้า (Sukrungpha ค.ศ.๑๖๙๖ - ๑๗๑๔) ก็มีรูปมังกรสิงโตมีปีก ทั้งยังปรากฏรูปปั้นสิงโตมีปีกตามมุมทั้งสี่ของบัลลังก์สิงโต ซึ่งเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของรัฐอัสสัมด้วย
นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่าในคัมภีร์โบราณของอาหมและศาตตระ (Sattra) ของฮินดูไวษณพนิกายจากแหล่งทางตอนเหนือของเมืองเกาฮะตี เช่น Dihingia Satra of North Guwahati, Barpeta Satra, Sundaridiya Satra, Bardua Satra ก็พบภาพวาดมังกรสิงโตมีปีกจำนวนมาก
หากที่เป็นรูปธรรมชัดเจนก็คือภาพแกะสลักนูนต่ำในโบราณสถานสมัยอาณาจักรอาหม ที่ซุ้มประตูพระที่นั่งรังคฆร (Rong Ghar) เมืองสิพสาคร และซุ้มประตูวิหารเจ้าแม่กามาขยา (Kamakhaya Temple) ที่เมืองเกาฮะตี คนไทอาหมเล่าว่าที่พระราชวังแจ้ม่วน (Talatal Ghar) แจ้ฮุ่ง (Kareng Ghar) เมืองสิพสาคร ก็เคยปรากฏภาพแกะสลักนูนต่ำเหมือนกัน แต่ปัจจุบันได้ชำรุดเสียหายและเลือนรางไปหมดแล้ว
คลิกดูภาพใหญ่ ผู้นำและปัญญาชนอาหมอธิบายความหมายของงีเงาคำอ้างอิงจากลิกลายแปงกากา (Lit Lai Peyn Ka Ka - คัมภีร์โบราณของไทอาหม) ว่า "ผู้หนึ่งชื่อต้าง งีเงาคำ หือปุดคิงพูราไลปลอง งีเงาคำ ไลปลอง " (Fu Leng Chu Tang Ngi Ngao Kham Heu Put Khring Fra Lai Plung Ngi Ngao Kham Lai Plung) แปลความตรงตามคำว่า งีแปลว่าลูกคนสุดท้อง เงาคำแปลว่าแสงสีทอง จึงหมายถึงลูกคนสุดท้องชื่อ งีเงาคำ มีหน้าที่รับผิดชอบนำคำสอนของพระเป็นเจ้ากระจายไปทั่วฟ้า ส่วนอีกหน้าที่หนึ่งก็คือเก็บรักษาคำสอนหรือองค์ความรู้ของพระเป็นเจ้า นั่นคือ งีเงาคำเป็นบุตรชายคนที่สี่ของพระเป็นเจ้าซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่คำสอนของพระเป็นเจ้าไปแก่มนุษยชาติ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เงาแสงบงพูรา" หรือ "เงาแสงเมืองฟ้า" มีอำนาจซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด
คำอธิบายดังกล่าวปรากฏในอาหม-บุราณจี ฉบับพิมพ์ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องราวเขียนเป็นตอนสั้น ๆ ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่การสร้างโลก ตอนกำเนิดเทพเจ้าจากมอนคำหรือไข่แดงทองคำ ตอนกำเนิดผู้รับใช้ ตอนกำเนิดต้นวงศ์กษัตริย์ และบรรยายถึงวงศ์กษัตริย์ต่อเนื่อง มาถึงขุนหลวงขุนหลายลงบันไดจากฟ้ามาครองเมืองรีเมืองรำ และลำดับรายชื่อกษัตริย์ปกครองสืบจนมาถึงเสือก่าฟ้าและราชวงศ์ไทอาหม
ความตอนที่เกี่ยวข้องกับงีเงาคำเป็นตอนกำเนิดเทพเจ้าจากนางมอนคำที่ว่า
เมื่อพระเป็นเจ้าสร้างโลกขึ้นมาแล้ว เกิด "มอนคำ" หรือไข่แดงทองคำอยู่ชิดเคียงกัน เปลี่ยนให้เถ้าหลวงกกงำ กกเป็นนานก็ไม่เกิดเป็นตัวจึงผละไปเสาะหาหญ้าปูลอกมายา ภายหลังมอนคำจึงแตกเกิดเป็นคน ฟ้าก็สอนสั่งทุกสิ่ง ผู้หนึ่งตั้งชื่อว่า "เจ้าอ้ายก่อฟ้าสร้างดินขุนใหญ่" ให้แสงเมืองซึ่งเป็นมณีคู่เมือง และให้เป็นกษัตริย์ ผู้หนึ่งตั้งชื่อว่า "แสงช่อผ้าผาคำ" ให้มีอำนาจเหนือฝูงเงือกแปดล้านก่อแคว ผู้หนึ่งตั้งชื่อว่า "แสงกำฟ้า" ให้มีอำนาจเหนือแปดหมื่นสายฟ้า ส่วนอีกผู้หนึ่งคือ "ยี่เงาคำ" ให้ "ปุดคิงฟ้า" หรือเปลี่ยนเป็นกษัตริย์ครองหลายเมือง ฟ้าสอนเสร็จแล้วก็ไป ภายหลังแสงกำฟ้าขัดคำสั่งฟ้าจึงตายเป็นผี ลูกชื่อแสงก่อฟ้าครองขุนแทน เมื่อตายกลายเป็นด้ำ
ดังข้อความในต้นฉบับที่ว่า
...God said to his youngest son, "I name you Ngi ngao kham. You will have to remain with me to help me in the creation of the world destroyed. You will also be called Phura." Having thus instructed His sons, God rose up.
คลิกดูภาพใหญ่ เช่นเดียวกับคำอธิบายเกี่ยวกับคติจักรวาลและเทพเจ้าของอาหมว่า งีเงาคำ เป็นลูกของพระเจ้า รู้จักกันทั่วว่า "พูรา" และยังคงมีการบูชาพูราของชาวอาหมอยู่
แต่ก็มีข้อสังเกตของรณี เลิศเลื่อมใส (๒๕๔๔) ซึ่งค้นคว้าเรื่องจักรวาลทัศน์ไทอาหม จากเอกสารโบราณหลายฉบับเทียบเคียงกัน กล่าวว่ายี่เงาคำหรืองีเงาคำ (Ngingaokham) ในบรรทัดดังกล่าวเป็นการสอดแทรกเนื้อหาใหม่เพิ่มเข้าไปเป็นลำดับที่ ๔ ซึ่งใน พื้นก่อเมือง (เอกสารโบราณภาษาไทอาหมอีกฉบับหนึ่ง) กล่าวถึงไข่ฟ้ามอนคำแตกเป็นเทพเพียง ๓ องค์ ดังข้อความว่า " เป็นทั้งสามมอนคำสีฟอน" ส่วนคำว่า "พูระ" (Phura) หรือ "ฟ้า" เป็นคำสมัยหลังอันเกี่ยวข้องกับลัทธิพิธีบูชาฟ้าหลวงหรือ "พูราหลวง" หรือ "พร้าหลวง" ของชาวไทอาหมในปัจจุบัน
ขณะที่อีกหลักฐานหนึ่งกล่าวว่า งีเงาคำนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นตัวแทนของฟ้า เรียกว่าจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมือง ซึ่งกล่าวกันว่าเสือก่าฟ้านำมาจากเมืองเมาตั้งแต่สมัยสร้างเมืองนุนสุนคำ ตามความเชื่อโบราณ ก่อนที่กษัตริย์ทุกพระองค์จะขึ้นครองราชย์ต้องบูชาสักการะ และปกติแล้วทุกปีจะต้องทำพิธีบูชาในเดือนสามที่หอจุ้ม ซึ่งในปลายสมัยราชอาณาจักร จุ่มฟ้ารุ่งแสงเมืองได้สูญหายไป ปัจจุบันการบูชางีเงาคำจึงเป็นเสมือนการบูชาจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมืองอีกด้วย

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
25 VOTES (5/5 จาก 5 คน)
VOTED: อ้ายเติ่ง, เยี่ยหัว, อะไรแมว, ไทยเฉย, Thorsten
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
รู้หรือไม่? นั่งไขว่ห้าง ไขว้ขา นาน ๆ ไม่ใช่แค่ปวดเมื่อย แต่อันตรายกว่าที่คิดวัวทองสัมฤทธิ์​ นั่งรักษาทะเลสาบคุนหมิง​มาเกือบ 300 ปี‼️ฉายา 'ญาญ่า 100 ชุด' สมฐานะนางเอกละครหนึ่งในร้อยหมูเด้งอาจต้องโบกมือลาเขาเขียว แฟนคลับใจหาย แต่เข้าใจเหตุผลครูเบญ ก้าวต่อไปบนเส้นทางชีวิต หลังเผชิญมรสุมผลสอบภาค ก. และ ข.อื้อหือ อย่างสวยเลย งานหล่อรูป "พระราม" สวยดีมากๆเลยแท้ญี่ปุ่นเตือนภัยฝนตกหนักในเมืองโนโตะ จังหวัดอิชิคาวะ จากพายุปูลาซันเกร็ดความรู้นิสัยคุณ 10 ข้อที่ทำร้ายสมองคุณยายที่ไม่เชื่อใจธนาคารนำเงินฝังดิน สุดท้ายกลายเป็นเศษกระดาษหมูเด้ง ฟีเวอร์ไม่หยุด! สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเปิดระบบชมสด 24 ชั่วโมง ตอบรับกระแสความน่ารักเกินต้านmeaningfully: อย่างมีความหมายspacious: กว้างขวาง กว้างใหญ่ มีเนื้อที่มาก
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
มนตรา คือ ผู้ชายในฝันของทองประกายที่เหมาะจะเป็นผู้ชายในชีวิตจริงหมูเด้ง ฟีเวอร์ไม่หยุด! สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเปิดระบบชมสด 24 ชั่วโมง ตอบรับกระแสความน่ารักเกินต้าน
รู้หรือไม่? แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้ข้อมูลอะไรหลอกลวงคุณแผนที่ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรปอายุ 4,000 ปีย้อนคำทำนาย บาบา วานกา หมอดูตาบอด จะมีผู้นำถูกลอบสังหาร ในปี 2024เมื่อเวรกรรมทำงานช้า 3พี่น้องสาวสวย ช่วยกันปลิดชีพพ่อมาเฟีย เพราะเอือมกับพฤติกรรมแบบสุดๆ!!
ตั้งกระทู้ใหม่