ท่องโลกดึกดำบรรพ์: มังกรทะเลและจ้าวสมุทร (ยุคจูราสสิค)
เมื่อพูดถึงเยอรมันนี หลายๆ คนคงนึกภาพของเบอร์ลิน เมืองเก่าแสนงดงาม ผู้คนที่รื่นเริงกับเบียร์และไส้กรอกปิ้ง เยอรมันนีเองก็ยังเป็นแหล่งถ่านหินและแร่ที่มีการส่งออกไปทั่วยุโรป และยังเป็นบ้านเกิดของนักวิทยาศาตร์และวิทยาการต่างๆ มากมาย แต่หลายๆ คน คงนึกภาพไม่ออกแน่ๆ ว่าเมื่อ 140 ล้านปีที่แล้ว ที่นี่อยู่ในทะเลที่เป็นเกาะเขตร้อน แถมยังมีมังกรทะเลว่ายอยู่ในน่านน้ำ หากคุณอยากจะเห็นละก็ อย่ารอช้าเลย มาเร็ว!
ย้อนกลับไป 140 ล้านปีที่แล้ว ส่วนมากยุโรปนั้นยังจมอยู่ใต้ทะเล มีเกาะแก่งบางส่วนขึ้นอยู่ประปายห่างจากทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือฝั่งตะวันออกไม่มากนัก รอบๆ เป็นเกาะเขตร้อนที่อบอุ่นที่ยังคงมีป่าปรงและแนวปะการัง คุณอาจจะจำได้ว่าในยุคไทรแอสซิกที่นี่ก็ยังเป็นทะเลเช่นกัน เมื่อพ้นช่วงมหายุคเมโซโซอิกหลังการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ไป ยุโรปจะกลับมาเป็นแผ่นดินเช่นที่เห็นในปัจจุบัน
คุณล่องแพขอนไม้ลอยมากลางทะเลที่เงียสงบ บนฟ้ามีเทอโรซอร์อย่างเทอโรแดกทิลลัส (Pterodactylus) บินวนรอบไปมา เราจะมาติดตามพฤติกรรมของสัตว์ชนิดหนึ่งด้วยการล่องเรือตามหาพวกมัน และขณะที่เรากำลังสังเกตอยู่อย่างพร้อมใจกันนี้ เงาของสิ่งๆ หนึ่งลอยขึ้นมาจากท้องทะเล รูปร่างคล้ายเครื่องบินที่ทั้งเพรียวและใหญ่โต นั่นเป็นปลาขนาดใหญ่และเป็นปลากระดูกแข็งที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลก เงาเหล่านี้มีจำนวนรวมกันแล้วเกือบสิบตัว พวกมันคือ ลีดส์อิกธิส (Leedsicthys) เป็นปลากระดูกแข็งความยาวเกือบ 25 เมตร พวกมันไม่ดุร้าย แต่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ปากกว้างๆ ของพวกมันมีซี่กระดูกเป็นแท่งๆ ใช้กรองเอาแพลงก์ตอนขนาดจิ๋วในน้ำทะเล
(ลีดส์อิกธิส)
(ฟอสซิลครีบของลีดส์อิกธิส)
ลิดส์อิกธิสนั้นมีการอพยพย้ายถิ่นฐานอยู่เรื่อยๆ ฟอสซิลของพวกมันพบครั้งแรกในอังกฤษโดยเซอร์อัลเฟรด นิคโคลสัน ลีดส์ นักบรรพชีวินวิทยา เขาได้ค้นพบว่ามีการเจอชิ้นส่วนครีบของมันในประเทศอื่นๆ เช่นกัน จึงเชื่อว่าปลาชนิดนี้อพยพย้ายถิ่นแบบที่ปลาหลายๆ ชนิดในปัจจุบันทำ อาจจะเพื่อไปผสมพันธุ์วางไข่ก็เป็นได้ หรือเพื่อตามแหล่งอาหารที่ไหลมากับกระแสน้ำที่ช่องแคบอังกฤษก็ได้เช่นกัน
(ออปทาลโมซอรัส)
รอบๆ ข้างคุณเห็นได้ว่ามีอิกธิโอซอร์ชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายโลมา พวกมันว่ายขนาบมากับฝูงปลายักษ์เหล่านี้ พวกมันคือ ออปทาลโมซอรัส (Opthalmosaurus) เป็นอิกธิโอซอร์ที่วิวัฒนาการต่อมาจากช่วงยุคไทรแอสซิก พวกมันมีครีบแถมยังเพรียวอย่างกระสวย อิกธิโอซอร์เหล่านี้ว่ายน้ำตามลีดส์อิกธิสเพื่อความปลอดภัย ท้องทะเลที่นี่มีนักล่าอันตรายมาก และเมื่อปลายักษ์เหล่านี้ว่ายน้ำรวมกัน พวกมันก็ต้อนปลาและหมึกที่เป็นอาหารของออปทาลโมซอรัสมาด้วย
คุณเริ่มจะมาถึงชายฝั่งช่องแคบอังกฤษแล้ว ในไม่ช้าก็คงถึงที่หมาย คุณอยากลงไปว่ายน้ำกับเจ้าปลายักษ์เหล่านี้จึงกระโดดลงไปแล้วดำน้ำลงไปดูพวกมัน ในน้ำนั้นพวกมันตัวใหญ่กว่าที่คาดคิดอีก ปลายักษ์หัวโตที่มีแผ่นกระดูกรอบหัวนี้ดูเหมือนจักรกลมากกว่าสิ่งมีชีวิตเสียอีก
(ไฮโบดัส)
และแล้ว ฉลามหน้าตาประหลาดตัวหนึ่งว่ายเข้ามาที่ครีบหลังของลีดส์อิกธิสตัวหนึ่ง ลักษณะที่คุณเห็นนั้นดูแล้วมันจะมีแท่งเงี่ยงคล้ายเขางอกออกมาจากเหนือดวงตา แถมมีครีบยาวเป็นริ้ว นั่นคือ ไฮโบดัส (Hybodus) เป็นฉลามจากกลุ่มของพวกฉลามวงศ์ไฮโบดอนทิด (Hybodontidae) ที่พบได้จนถึงช่วงต้นยุคครีเทเชียส ในไทยก็มีการค้นพบซากของพวกมันเช่นกัน ไฮโบดัสนั้นเป็นนักล่าประเภทฉวยโอกาส การมาของมันเลือกว่ายตามลีดส์อิกธิสที่ว่ายน้ำช้าแล้วกัดเข้าไป พวกมันจะเฉือนเอาก้อนเนื้อออกมากินจากนักล่าและจะทำซ้ำๆ หากมองดูดีๆ ฉลามหลายๆ ชนิดก็ใช้วิธีเหล่านี้เช่นกัน เช่น ฉลามคุ๊กกี้คัตเตอร์ (Cookiecutter Shark) พวกมันก็เป็นฉลามโบราณที่มีฟันกรามเป็นทรงกลมต่อกับปากดูด พวกมันก็จะใช้ปากดูดยึดกับผิวของเหยื่อแล้วดูดเอาเนื้อเข้ามากิน
ที่เขตชายฝั่งน้ำตื้นเองตอนนี้ปลายักษ์หลากหลายตัวว่ายรวมกัน ตัวเมียจะเริ่มทิ้งไข่ไปตามแนวปะการังริมหาดขณะที่ตัวผู้จะย่อตัวลงปล่อยน้ำเชื้อเพื่อปฏิสนธิไข่ คุณได้กลิ่นคาวพร้อมน้ำทะลที่เปลี่ยนสี พวกออปทาลโมซอรัสเองนั้นก็ว่ายน้ำไล่กินปลาเล็กตามแนวปะการัง สัตว์น้ำทั้งสองนี้จะยังคงอยู่ที่ช่องแคบอังกฤษไปสักพักจนกว่าที่น่านน้ำของทะเลฝั่งเยอรมันนีกลับมาอบอุ่นก็ค่อยย้ายกลับไป
และแล้ว ขณะที่คุณดูทุกสิ่งที่เกิดขึ้น คุณเห็นได้ว่ามีลิดส์อิกธิสฝูงหนึ่งที่วางไข่เสร็จก็พลอยร่วงลงมาล้มลงนอนที่พื้นทะเล ร่างของมันไม่มีสัญญาณการขยับเลย นี่คงจะเป็นการเสียชีวิตจากอาการเหนื่อยล้าที่ว่ายน้ำมาไกลหลายกิโลเมตร บางตัวออกไข่มาหลายครั้งก็ถึงอายุไข ถึงจะไม่ทราบแน่ชัดว่าปลาเหล่านี้มีอายุไขได้สูงสุดเพียงไหน แต่โรคภัย อาการบาดเจ็บก็จะคัดเลือกตัวที่อ่อนแอ แต่การตายของเจ้าปลายักษ์ตัวนี้จะไม่ไร้ประโยชน์ไปเสียทีเดียว
(ไลโอพลูโรดอนกำลังเข้าใกล้ซากของลีดส์อิกธิส)
ตอนนี้เป็นยามราตรี คุณได้ล่องแพขอนไม้กลับมาอีกครั้งและมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในแนวปะการัง ลีดส์อิกธิสตอนนี้ลอยตัวขึ้นมายังผิวน้ำ คุณเห็นหัวขนาดใหญ่สีดำปากยาวกัดและแทะเนื้อ เมื่อฉายไฟไปก็พบว่า นี่คือนักล่าแสนอันตรายแห่งท้องทะเลยุคจูราสสิค นี่คือ ไลโอพลูโรดอน (Liopluerodon) เป็นสัตว์เลื้อยคลานทะเลในตระกูลไพลโอซอร์ (Pliosaur) พวกมันวิวัฒนาการมาอย่างดีสำหรับการใช้ชีวิตในน้ำ ฟันแหลมยาวใช้กัดกินเนื้อปลาและงับไม่ให้เหยื่อหลุด ครีบทั้งสี่ที่ยาวเพรียวคล้ายใบพายกับลำตัวที่เพรียว มันสามารถพุ่งตัวได้ด้วยความเร็ว ไลโอพลูโรดอนนั้นยาวถึงแปดเมตร ในยุคนี้ นี่คือนักล่าที่ใหญ่โตและร้ายกาจที่สุดที่โลกเคยรู้จักมา
หากคุณมองดูดีๆ คุณจะเห็นว่ามีสัตว์เลื้อยคลานทะเลคอยาวขนาดเล็กจำนวนหนึ่งกำลังกัดแทะซากอยู่ข้างๆ นั่นคือ คริปโตไคลดัส (Cryptoclydus) เป็นสัตว์เลื้อยคลานในทะเลกลุ่มที่เรียกว่า เพลซิโอซอร์ (Plesiosaur) ถึงจะวิวัฒนาการมาในกลุ่มเดียวกับไพลโอซอร์อย่างลีโอพลูโรดอนและมีรูปร่างต่างกัน พวกมันยอมมีหัวที่เล็กและคอยาวบางผิดกับหัวโตๆ และคอสั้นหนาตันของไพลโอซอร์ คอยาวๆ นี้สามารถตวัดจับปลากินได้ในน้ำ ยามปกติมันจะล่าปลาขนาดเล็ก แต่ซากสัตว์ในทะเลก็ถือว่าง่ายและสะดวกกว่าการออกล่า พวกนักล่าในทะเลจะอาศัยกินซากนี้จนหมดเหลือแต่กระดูก และเมื่อซากนี้จมลงที่ก้นทะเล จะมีพวกดาวทะเลและหนอนทะเลรอคอยที่จะย่อยธาตุอาหารของกระดูกให้คืนสภาพเป็นทรายที่ก้นทะเล
และแล้ว ขณะที่คุณอยู่บนแพ ไลโอพลูโรดอนตัวหนึ่งมองเห็นว่าเรือของคุณเป็นเหยื่อจึงพุ่งชาร์ตจนขอนไม้พังขาดครึ่ง ชิ้นส่วนและเศษกระเด็นกระจัดกระจาย โน่น ว่าย! ว่ายเร็ว! ว่ายไปที่โขดหินของแนวปะการังเร็วเข้า มันตามคุณมาไม่ได้หรอกนะ ในระยะและด้วยการมีสิ่งกีดขวางรอบๆ นี้ทำให้มันงุ่มง่ามเกินไป แต่หากเป็นทะเลเปิดแล้ว มันจะเป็นหนังคนละม้วนเลยทีเดียว รูปแบบการโจมตีของพวกเพลซิโอซอร์และไพลโอซอร์หลายๆ ชนิดนั้นโจมตีเหยื่อได้อย่างรวดเร็วด้วยการซุ่มโจมตีจากมุมอับสายตาด้านล่าง นักวิทยาศาตร์ค้นพบสารเมลาโนโซม (Melanosome) สีเข้มในรอยประทับบนกระดูกและกระโหลกของสัตว์เลื้อยคลานทะเลหลายๆ กลุ่ม พวกมันจะมีลำตัวด้านบนสีเข้มและด้านล่างสีขาวสว่าง การมีสีสันแบบนี้ หากเหยื่อมองมาจากด้านล่าง ท้องสีข้าวจะสะท้อนแสงแดดที่กระทบกับน้ำทะเล หากมองจากด้านบนมันจะกลืนไปกับน้ำทะเลโดยรอบ การล่าแบบนี้จึงทำให้เหยื่อรู้ตัวน้อยที่สุดเช่นกัน
ถึงปัจจุบันเยอรมันนีจะไม่มีสิ่งมีชีวิตประหลาดเหล่านี้อีกต่อไป พวกมันก็ดึงความสนใจของนักวิทยาศาตร์ในยุคเรเนซองต์มาหลายคน เช่น แมรี่ แอนนิ่ง ผู้ค้นพบการมีอยู่ของไพลโอซอร์ที่เป็นฟอสซิล และทุกวันนี้ ถึงจะเหลือแต่ซากประทับไปบนแผ่นหิน จงพึงระลึกไว้เสมอว่า มีหลายๆ สิ่งที่ตำนานและข้อเท็จจริงเคยพานพบบรรจบมาเจอกัน...
ตอนต่อไป เดินทางไปอีก 40 ล้านปีข้างหน้าสู่ยุคครีเทเชียสเข้าไปยังเอเชียในประเทศไทยของเรา เมื่อแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยื่นลงไปในทะเลเกิดเป็นบึงน้ำเขตร้อน พบกับซอโรพอดยักษ์ที่สูงเทียมฟ้า ภูเวียงโกซอรัส และนักล่าสุดคล่องแคล่ว วายุแรปเตอร์ ครั้งเมื่อไดโนเสาร์พัฒนาขนและเริ่มคล้ายกับนกแล้ววิวัฒนาการใกล้มาคล้ายกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสุดยอดนักฆ่าแสนดุร้ายผู้มาเป็นต้นตระกูลของทรราชของเหล่าไดโนเสาร์ สยามโมไทแรนนัส จะมีอะไรรอเราอยู่กันแน่ โปรดติดตามใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!