อ.เจษฏ์ คลายข้อสงสัย.."หอยนางรม กรองน้ำทะเลใส"
"หอยนางรม กรองน้ำทะเลใส"
เจอคำถามจากภาพข้างล่างนี้ ที่เพจ "สัตว์โลกอมตีน" เอามาโพสต์ถามว่า น้ำขุ่นๆ มันใสขึ้นเพราะตัวหอยนางรม หรือเปลือกหอย กันแน่? คำตอบคือ จากตัวหอยครับ เพราะสัตว์กลุ่มหอยนั้นมีลักษณะการกินอาหารโดยการดูดน้ำ และกรองอาหารจากน้ำ กันอยู่แล้ว ซึ่ง "หอยนางรม" เองก็กำลังเป็นที่สนใจของนักสิ่งแวดล้อม เพราะมันมีความสามารถในการกรองน้ำ ที่มีมลพิษจากสารอินทรีย์ ได้ดีครับ
ดังเช่นการทดลองในคลิปนี้
ซึ่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง University of Hong Kong ได้สาธิตว่า หอยนางรมสามาารถทำให้น้ำทะเลที่มีมลพิษนั้นสะอาดขึ้นได้ โดยคลิปเร่งความเร็วแบบ time lapse นี้ แสดงให้เห็นว่า หอยนางรมของฮ่องกงสามารถกรองน้ำเสียที่มี "สาหร่ายพิษ ขนาดตาเปล่ามองไม่เห็น" ได้หมดภายในเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งสาหร่ายพิษดังกล่าวนี้ คือตัวการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ขี้ปลาวาฬ (red tide)" ที่มีสาหร่ายพิษขนาดจิ๋วนี้ในทะเลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนทำให้ปลาและสัตว์ทะเลตายได้
จากความสามารถของพวกสัตว์กลุ่มหอย โดยเฉพาะพวกหอยสองฝา ที่ใช้ระบบเหงือกของมันกรองอาหารพวกแพลงก์ตอน (อย่างสาหร่ายเซลล์เดียว) กินจากน้ำได้ โดยพบว่า หอยนางรมหนึ่งตัวสามารถกรองน้ำได้ถึง 120-160 ลิตรต่อวัน กรองเอาสารที่ถ้ามากเกินไปจะกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และคาร์บอนไดออกไซด์ จึงทำให้น้ำทะเลใสขึ้น ช่วยควบคุมระดับของสาหร่าย และดึงดูดให้สัตว์ทะเลอื่นๆ เข้ามามากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยฮ่องกง จึงได้ร่วมกับสมาคมนิเวศวิทยาทางทะเล เริ่มโครงการ "หอยนางรม กู้ทะเลของเรา" และพยายามจะนำหอยนางรมประมาณ 5-10 ล้านตัว มาปล่อยให้เติบโตที่ชายฝั่งของเกาะฮ่องกง ในช่วงเวลา 3 ปี ซึ่งคาดหวังกันว่าการเพาะเลี้ยงหอยนางรมแบบนี้ จะช่วยให้คุณภาพน้ำทะเลของฮ่องกงดีขึ้นอย่างมาก
หอยนางรมเป็นสัตว์ที่สำคัญมากต่อความหลากหลายทางชีวภาพของบริเวณปากแม่น้ำหรือชายฝั่ง พวกหอยสองฝาเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ช่วยให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติสะอาดขึ้น แต่มันยังมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศทางทะเล ที่บรรดาปลาและสาหร่ายต้องพึงพาอาศัยพวกมัน
ส่วนเปลือกหอยนางรมนั้น มีความสำคัญทางอ้อมต่อการช่วยกรองน้ำในทะเลด้วย โดยที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำเอาเปลือกหอยนางรมจากร้านอาหาร มาช่วยให้เป็นเป็นบ้านสำหรับตัวอ่อนของหอย เพื่อฟื้นฟูและเพาะพันธุ์หอยนางรมให้กลับมาอาศัยอยู่ในบริเวณท่าเรือนิวยอร์กได้อีกครั้ง (หลังจากสูญหายไปเนื่องจากมลพิษจากอุตสาหกรรม) และนำไปสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำ ภายในปี ค.ศ. 2035
ปรกติแล้ว เวลาที่หอยนางรมผสมพันธุ์ โดยตัวผู้จะปล่อยสเปิร์มออกมาในน้ำ ผสมกับไข่ที่ปล่อยออกมาจากตัวเมีย กลายเป็นตัวอ่อนหอย (larvae) ที่จะหาพื้นที่ยึดเกาะ และเริ่มหาแคลเซียมไบคาร์บอเนตมาสร้างเปลือกของตัวเอง (ฟาร์มหอยนางรม มักจะใช้ตะแกรงหรือแท่งไม้ให้ตัวอ่อนหอยเกาะ และป่นเปลือกหอยเก่าโรยลงในน้ำ เพื่อเป็นแคลเซียมตั้งต้น ให้หอยสร้างเปลือกของตัวเอง)
ทางโครงการนี้ จึงรับบริจาคขยะเปลือกหอยจากร้านอาหารในเครือข่าย แล้วนำตัวอ่อนหอยมาเพาะต่อที่เปลือกหอย โดยเปลือกหอยนางรมเก่า 1 เปลือก สามารถเป็นบ้านให้หอยได้ถึง 20 ตัว เมื่อหอยโตเต็มที่ จึงนำใส่กล่องตะแกรง เพื่อสร้างเป็นแนวปะการังหอยนางรม ติดตั้งยังท่าเรือต่างๆ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพของน้ำทะเลรอบเมืองนิวยอร์ก
ป.ล. สำหรับอันตรายจากการกินหอยนางรมที่อยู่ริมทะเล และดูดกรองเอาสารมลพิษเข้าไปนั้น ถ้าเป็นพื้นที่ชายทะเล ใกล้แหล่งอุตสาหกรรม หรือแหล่งทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีเยอะ ก็จะพบว่าหอยมีการสะสมสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (เช่น สารตกค้างกลุ่ม พีซีบี กลุ่มออกาโนฟอสเฟต โลหะหนัก ฯลฯ) ในระยะยาวได้
แต่ที่มีรายงานบ่อยครั้งกว่า คือ การพบสารชีวภาพที่เป็นพิษ (biotoxin) เช่น กรดโอคาดาอิก (okadaic acid) และ ไดโนไฟซิสทอกซิน (dinophysis toxin) ซึ่งสร้างจากสาหร่ายเซลล์เดียวไดโนแฟลเจลเลตชนิดมีพิษ ที่หอยกินเข้าไปและสะสมในตัวมัน ซึ่งสารพวกนี้มักไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน และส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อได้
รวมไปถึงการมีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น เชื้อวิบริโอ (vibrio) ซาลโมเนลลา (Salmonella) แคมไพโลแบคเทอร์ (Campylobacter) ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ถ้านำมาบริโภคดิบๆ ครับ จึงควรกินอาหารทะเลที่ทำให้สุกก่อนเสมอ
ข้อมูลจาก https://educaemprendeoaxaca.home.blog/2020/08/24/las-ostras-salvan-nuestros-mares/ และ จาก https://educaemprendeoaxaca.home.blog/2020/08/24/las-ostras-salvan-nuestros-mares/