ฟังอีกมุม จากหมอ รพ.รัฐ
ในฐานะแพทย์ซึ่งทำงานที่โรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัดอยากจะบอกว่า
1.ทำงานมากว่า 25 ปีแล้ว ถามว่าเหนื่อยมั้ย ก็เหนื่อยแหละ แต่ไม่เคยมีความคิดที่จะลาออกไปทำงานเอกชนเลย เพราะมีความสุขกับงาน กับบรรยากาศของที่ทำงาน และกับเพื่อนร่วมงาน ถามว่าพอใจกับเงินค่าตอบแทนมั้ย ถึงแม้ว่าเงินเดือนและค่าตอบแทนในการทำงานจะน้อยกว่าการทำงานในโรงพยาบาลเอกชนแบบไม่เห็นฝุ่น แต่ผมพอใจแล้วครับ เปรียบเทียบกับบุคลากรสายวิชาชีพอื่น แพทย์ได้เปรียบกว่ามากๆ ถึงแม้ไม่ทำงานเอกชนเลยก็มีพออยู่พอกินสบายๆไม่เดือดร้อน ถ้าจะให้ออกมาเรียกร้องขอเพิ่มค่าตอบแทนให้เฉพาะสายอาชีพตัวเองก็รู้สึกอายครับ
2.ถามว่าแพทย์ที่ต้องทำงานเกินเวลาตามที่ระเบียบกำหนดมีจริงมั้ย ยังมีอยู่ครับ แต่เป็นเฉพาะปีแรกหลังเรียนจบซึ่งเรียกว่าโครงการเพิ่มพูนทักษะเท่านั้น และนั่นคือการฝึกประสบการณ์ซึ่งได้ประโยชน์โดยตรงกับตัวแพทย์เอง ปัจจุบันมีการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนแทบทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยไม่มีปัญหาการขาดแคลนแพทย์อีกแล้วยกเว้นในเขตพื้นที่ทุรกันดารมากๆเท่านั้น และปัญหาการทำงานเกินเวลาของแพทย์ในช่วงโครงการเพิ่มพูนทักษะก็ค่อยๆดีขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างมากด้วยการผลิตแพทย์เพิ่มเช่นเดียวกัน
3.ณ วันนี้แทบไม่มีโรงพยาบาลรัฐแห่งไหนประสบปัญหาการเงินฝืดเคืองแล้วเนื่องด้วยการอัดฉีดงบประมาณของรัฐโดยเฉพาะในช่วงยุคโควิดที่ผ่านมา แต่การใช้จ่ายงบประมาณก็ต้องมีการพิจารณาตามความเหมาะสม เครื่องมือแพทย์หลายชนิดมีราคาสูงมาก ถ้าจะต้องซื้อเครื่องมือทุกอย่างที่จำเป็น คงเป็นภาระกับงบประมาณของรัฐมากเกินไปเพราะรัฐก็ต้องใช้จ่ายในกิจการอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของสาธารณสุขอีกเยอะแยะ การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐจึงต้องมีการพิจารณาตามความเหมาะสม เครื่องมือแพทย์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนน้อยกว่าอาจต้องถูกชะลอการจัดซื้อไว้ก่อน การรับบริจาคจึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่ทุกโรงพยาบาลรัฐทำกันเป็นเรื่องปกติ
4.การมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้ในโรงพยาบาลนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการตรวจรักษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดภาระงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นของโรงพยาบาลด้วย ตัวอย่างเช่น เครื่องมือวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติทำให้แทนที่พยาบาลจะต้องเดินไปวัดความดันโลหิตเป็นระยะเพื่อติดตามอาการของผู้ป่วย ถ้ามีเครื่องนี้ก็แค่ตั้งค่าในเครื่องแล้วเครื่องก็ทำงานเองโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินไปเลย หรือถ้าแพทย์มีเครื่องมือในการรักษาที่ทันสมัย แพทย์ก็จะทำงานด้วยความสะดวกสบายขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์หายเหนื่อยอย่างแน่นอนครับ
5.ทุกวันนี้ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยเป็นการประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศไทย แต่ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ห่างไกลย่อมมีความพร้อมและศักยภาพด้อยกว่าโรงพยาบาลในเขตเมืองใหญ่ การบริจาคเงินหรือเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของศักยภาพโรงพยาบาล และเป็นกุศโลบายหนึ่งที่จะทำให้คนรวยได้มีโอกาสแบ่งปันให้กับคนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นเดียวกันครับ
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/100000029073524/posts/pfbid0rQVShJqmFkAEN8Nku4H6dTkMYMMTHzcRcGo8wmjCt9bYUzwUAzg5eAEBbMWrXmdJl/