หิ่งห้อยเรืองแสงได้อย่างไร แล้วน้องเรืองแสงทำไม?
หิ่งห้อย (Firefly, Lightning bug) เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกแมลงเต่าทอง มีหลายสายพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยพบหิ่งห้อย 4 ชนิด พบมากในเขตร้อนชื้นแถบเอเชีย และอเมริกา และแน่นอนว่า เมื่อเรานึกถึงหิ่งห้อยเราจะนึกถึงแสงสว่างวาบๆที่ก้นของน้อง แสงนี้สร้างมายังไง และมีไว้ทำอะไร วันนี้มาหาคำตอบพร้อมกันค่ะ
แสงวับๆ แวมๆ ในช่วงบั้นท้ายอวบอิ่มของน้องหิ่งห้อยนั้น เกิดจากปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์พิเศษ ระหว่างโปรตีนลูซิเฟริน (Luciferin) ที่สามารถสร้างเอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Luciferase) ได้ ลองมาดูปฏิกิริยาเคมีกันค่ะ
Luciferin + Luciferase + ATP ---> Luciferyl adenylate-luciferase + pyrophosphate
Luciferyl adenylate-luciferase + O2 ----> Oxyluciferin + luciferase + AMP + light
เริ่มต้นโปรตีน Luciferin จะจับกับ ATP (Adenosine triphosphate) หรือสารพลังงานสูง โดยมีเอนไซม์ Luciferase เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีได้ผลิตภัณฑ์ Luciferyl adenylate และ pyrophosphate (PPi) จากนั้น Luciferyl adenylate ที่ยังคงจับกับเอนไซม์นี้ จะไปทำปฏิกิริยาต่อกับออกซิเจน (ปฏิกิริยาที่ 2) ได้สารใหม่ชื่อว่าออกซิลูซิเฟอ (Oxyluciferin ) ซึ่งปกติแล้วสารตัวนี้ ไม่ได้อยู่ในรูปพร้อมทำงาน หรือ inactive form ค่ะ
และได้ Adenosine monophosphate (AMP) และมีการคายพลังงานแสงออกมา
นอกจากนี้เซลล์ที่สร้างแสงจะมีกรดยูริกในรูปผลึกอยู่ภายในด้วย โดยหน้าที่ของกรดยูริกก็เพื่อช่วยสะท้อนแสงออกมานั่นเอง ให้มีความวิ้งๆ โดยความยาวคลื่นของแสงจากหิ่งห้อย จะมีช่วงอยู่ที่ 510-670 นาโนเมตร (nm)
หิ่งห้อยสามารถเรืองแสงได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อหลอกล่อเหยื่อให้มาติดกับ หิ่งห้อยตัวเมียบางชนิดพรางตัวเก่ง และสามารถเลียนแบบการเรืองแสงเป็นตัวเมียพันธุ์อื่นได้ เพื่อล่อตัวผู้เข้ามาใกล้ และจับกินเป็นอาหารในที่สุด (โหดแท้) และอีกหนึ่งวัตถุประสงค์ของการเรืองแสงก็เพื่อสืบพันธุ์ เหมือนๆ กับนกยูงรำแพนหางนั่นแหละค่ะ ทีนี้เราก็รู้แล้วนะคะว่าน้องเรืองแสงได้อย่างไร