ด้วงสาคู ใครกล้ากิน ยกมือขึ้น !
‘ด้วงสาคู‘ หรืออีกชื่อหนึ่ง ‘ด้วงมะพร้าว‘ เป็นแมลงที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากทางภาคใต้ของประเทศเรา และในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ก็ได้แพร่หลายและมีการเพาะเลี้ยงกันทั่วประเทศ ตัวอย่างเช่น ด้วงสาคูฟาร์มมาดี จ.เพชรบุรี ที่เลี้ยงด้วงสาคูจนประสบความสำเร็จอย่างมาก วันนี้จะพามาทำความรู้จักด้วงสาคู และเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยง
ด้วงสาคู มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Rhynchophorus ferrugineus Olivier วงศ์ Curculionidae
ชื่อสามัญ Red palm weevil, Red stripe weevil, Asiatic palm weevil, Sago palm weevil, Coconut weevil
ด้วงสาคู มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น ด้วงงวงมะพร้าว ด้วงไฟ ทางภาคใต้เรียกว่า ด้วงลานหรือแมงหวัง เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของพืชตระกูลปาล์ม เช่น มะพร้าว ต้นสาคู หรือต้นลาน ปัจจุบันเป็นแมลงเศรษฐกิจมีความสำคัญเป็นแมลงกินได้และแหล่งอาหารโปรตีน ประเทศไทยสามารถเลี้ยงด้วงสาคูได้ทุกภาค ทุกฤดูกาล สามารถเลี้ยงได้ทั้งแบบธรรมชาติและการเลี้ยงแบบประยุกต์ เช่นการเลี้ยงในกะละมัง โรงเรือน ตู้กระจก การใช้ทางมะพร้าวเลี้ยง ด้วงสาคูเพาะพันธุ์และเลี้ยงง่าย โตเร็ว ใช้เวลาเพียงเดือนกว่า ก็สามารถจำหน่ายได้ มีแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้เพราะมีสภาพอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์
ลักษณะทั่วไป
ด้วงสาคู มีขนาดลำตัวยาว ประมาณ 2.2-3.5 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลอมส้มหรือสีน้ำตาลปนดำ ปากยาวแบบบาง มีงวงโค้ง มีจุดแต้มสีน้ำตาลเข้มด้านบนของอกปล้องแรก จุดแต้มนี้มีหลากหลายรูปแบบ ปีกคู่หน้ามีริ้วรอยเป็นเส้น ๆ ตามความยาวของปีก ปีกคลุมไม่มิดลำตัว เห็นส่วนปลายท้อง ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกัน โดยตัวผู้จะมีขนเป็นแนวที่ส่วนกลางตามความยาวของงวง ตัวเมียมีปลายงวงยาวเรียว
วงจรชีวิต (150-259 วัน)
ด้วงสาคูมีวงจรชีวิต 4 ระยะดังนี้
- ระยะไข่ 2-3 วันก็จะฟักมาเป็นตัวหนอน
- ระยะตัวหนอน 35-39 วัน เป็นระยะเก็บผลผลิตด้วงสาคู
- ระยะสร้างรัง (3-7 วัน)-อยู่ในรัง (6 วัน)
- ระยะเข้าดักแด้ (9-10วัน)-ออกดักแด้ (5-10 วัน)
- ระยะตัวเต็มวัย มีอายุประมาณ 90-184 วัน
การเลี้ยง
‘ด้วงสาคู‘ เป็นแมลงที่เลี้ยงง่ายไม่ยุ่งอยากเท่าไหร่นัก โดยสูตรอาหารของทางฟาร์มจะใช้สัดส่วน ดังนี้
- หัวอาหารสัตว์ และรำข้าว อย่างละ 3 ขีด
- มันสดบด 1 กิโลกรัม
- เปลือกมะพร้าวสับละเอียด 1 – 1.5 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 100 ซีซี นำมาใส่ภาชนะที่จะเลี้ยง โดยแนะนำว่าควรเป็นกะละมังขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร
เมื่อเตรียมส่วนประกอบครบถ้วนแล้วน้ำมาผสมกันในกะละมัง โดยเติมน้ำลงไปให้พอแฉะ ๆ และใช้เปลือกมะพร้าวปิดหน้าอาหารไว้ พร้อมนำกล้วยน้ำว้า 2 ลูก มาวางไว้ เป็นอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ พร้อมนำฝามาปิดโดยให้มีรูระบายอากาศถ่ายเท โดยจะเลี้ยง 5 คู่ ต่อ 1 กะละมัง ซึ่งปกติแล้วด้วงสาคูจะไข่ทุกวัน หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงไปทิ้งระยะเวลาประมาณ 15 วัน เมื่อลูกตกแล้ว ให้จับพ่อแม่พันธุ์ไปเลี้ยงในกะละมังอันใหม่เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป โดยวงจรชีวิตของเจ้าด้วงสาคู สามารถอยู่ได้ประมาณเดือนกว่า ๆ ก็จะตาย
หลังจากนั้น หมั่นดูหน้าอาหารไม่ให้แห้ง ซึ่งถ้าหน้าอาหารแห้งก็ให้พรมน้ำ เลี้ยงจนตัวหนอนโตประมาณเท่านิ้วโป้ง ใช้เวลาประมาณ 25 วัน ก็สามารถจับส่งขายได้แล้ว แต่หากต้องการเลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ ต้องเลี้ยงไปอีกประมาณ 20 วัน ตัวหนอนก็จะเริ่มเข้าฝัก คล้ายดักแด้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 10 วันก็จะออกมาเป็นตัวด้วงสาคู ส่วนการดูเพศนั้น ตัวผู้จะมีงวงสั้นกว่าตัวเมีย และงวงของตัวผู้จะมีขนเล็ก ๆ อยู่ ขณะที่ตัวเมียงวงจะเรียวยาว
ส่วนราคาขายจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือแบบขายเป็นตัวสด ๆ จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท และแบบแช่ฟรีซ สามารถอยู่ได้ 7-8 เดือน ราคาจะอยู่ที่ 350 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังสามารถขายพ่อแม่พันธุ์ได้อีกด้วย โดยจะส่งขายเป็นชุดเลี้ยงประกอบด้วย พ่อแม่พันธุ์ 10 ตัว อาหาร 3 กิโลกรัม พร้อมคู่มือการเลี้ยง จะขายในราคาพร้อมส่งอยู่ที่ 400 บาท
สำหรับการแปรรูปด้วงสาคูทำได้หลายอย่าง จะนำไปทอด หรือจะเอามาย่างก็ได้ หรือถ้าจะเอามากินสดก็ไม่คาวเลย กัดเข้าไปแล้วแตกใส่ปาก อื้อหือเด็ดไม่เหมือนใครเลย กินง่าย แถมหอมด้วย มันเก๋ตรงนี้แหละ
https://www.tiktok.com/@icesy168/video/6924981538798963970