ปลานกแก้ว รณรงค์งดจับเพราะน้องคือผู้เพิ่มหาดทรายให้เราเดินเล่น
ปลานกแก้ว (Parrotfish) เป็นปลาที่มีขนาดกลาง มีเกล็ดขนาดใหญ่ และจะงอยปากที่ยืดได้หดได้ ลักษณะคล้ายปากนกแก้ว (ที่มาของชื่อ) สีสันสวยงาม ทำให้เป็นที่ต้องตาต้องใจต่อผู้พบเห็น จับมารับประทานและเลี้ยงไว้ดูเล่น โดยหารู้ไม่ว่าปลานกแก้วอยู่ในห่วงโซ่ของทะเล มีผลต่อระบบนิเวศโดยรวมของทะเลบริเวณนั้นๆ ทำให้จะเสียสมดุลลงทันที เนื่องจากปลานกแก้วมีความสามารถพิเศษคือ กินซากปะการังที่ตาย และกันไม่ให้สาหร่ายขึ้นคลุมปะการัง เป็นต้น เมื่อเสร็จแล้วจะถ่ายออกมาเป็นทรายขาวๆ โดยเฉลี่ยในหนึ่งปี ถ่ายออกมาเป็นทรายได้ถึง 90 กิโลกรัม
แม้ว่าปลานกแก้วจะไม่ได้เป็นสัตว์ที่มีการคุ้มครองก่อนที่จะสูญพันธ์ุก็ตาม แต่ได้มีประกาศเตือนถึงกรณีดังกล่าวจากสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช เผยว่า “สำนักอุทยานแห่งชาติ ขอรณรงค์ทุกท่านร่วมกัน ไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ ไม่รับประทานปลานกแก้ว หากพบเห็นการจับปลานกแก้วในเขตอุทยานแห่งชาติให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีประกาศฉบับลงวันที่ 11 ส.ค. 2558 ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทำอันตรายกับสัตว์ต่างๆ ทุกชนิดในอุทยานแห่งชาติ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504
มาตรา 16(3) นำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ ประกอบกับ
มาตรา 21 ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 16 ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ หรือ งดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 24 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 16(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
สำหรับใครที่พบเห็นการกระทำผิดดังกล่าวในเขตพื้นที่อุทยาน สามารถแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีทางกฏหมายได้ และคงต้องขอความร่วมมือจากทุกคน ให้หยุดล่าปลานกแก้ว หยุดทำลายและหยุดสนับสนุน ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้เราได้มีระบบนิเวศทางทะเลที่ดีและปลาที่สวยงามยังคงอยู่ต่อไป