บูชา ศรัทธาหรืองมงาย Worship สารคดีตีแผ่ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ รีวิว สปอยล์
ภาพยนตร์เรื่อง บูชา หรือชื่อภาษาอังกฤษ WORSHIP จัดเป็นสารคดีความยาว 1 ชั่วโมง 50 นาที เข้าฉายจำกัดโรงสุดๆ โดยที่เครือเมเจอร์มีฉายแค่สาขารัชโยธินแห่งเดียว หนังเข้าในวันอาสาฬหบูชา พุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 โดยในวันแรกมีฉายเพียง 2 รอบ จากนั้นตั้งแต่วันเข้าพรรษาคือพฤหัสบดีที่ 14 เป็นต้นมาก็ลดรอบฉายลงถึง 50% เหลือรอบเดียว (หรือจะพูดว่าลดไปแค่รอบเดียวก็ได้นะ ฟังดูดีกว่า)
หนังเรื่องนี้ตั้งแต่เห็นโปสเตอร์แล้วก็รู้สึกแต่แรกได้เลยว่าหนังตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นพิธีกรรมบูชาต่างๆ ของประชาชนทั่วประเทศที่แห่แหนกันไปทำบุญเข้าร่วมพิธีต่างๆ ด้วยความศรัทธานั้นคือความงมงาย เมื่อเข้าไปดูแล้วก็พบว่าเป็นไปตามที่คาดจริง ไม่เหมือนสารคดี เอหิปัสสิโก ของปีที่แล้ว ที่นำเสนอมุมมองจากทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านวัดพระธรรมกายอย่างเท่าๆ กัน และปล่อยให้ผู้ชมตัดสินใจเอง
- สารคดีเรื่องบูชา นำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่ออกจะนอกเหนือศาสนาพุทธ แต่เต็มไปด้วยคนพุทธทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ในศาสนสถานต่างๆ ทั่วประเทศ บางส่วนก็เป็นประเพณีบุญที่สืบต่อกันมาช้านานไม่ว่าจะเป็นประเพณีท้องถิ่นหรือการทำบุญแบบพิสดารที่ใส่เพิ่มกันเข้ามาทีหลัง แม้จะไม่มีบทบรรยาย แต่ภาพที่ปรากฎให้เห็นก็ดูเหมือนจะเน้นแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ เช่นควรทำบุญด้วยจำนวนเท่านี้ การทำบุญนี้มีราคาเท่านี้ แต่ถ้าจะทำมากกว่านี้ก็จะดีกว่า อะไรประมาณนี้ (ยิ่งถ้าอ่านซับภาษาอังกฤษยิ่งชัดเจนว่าผู้พูดต้องการเงินมาก) บ่อยครั้ง รวมถึงการแสดงให้เห็นการบริจาคเงินทำบุญในลักษณะต่างๆ ส่วนพิธีกรรมที่คนทำเพื่อบูชาเท่าที่จับความได้ก็ดูุเหมือนจะแบ่งเป็นสามหมวดใหญ่ คือ ทำบุญเพื่อโชคลาภ มีการแสดงให้เห็นการขูดเลขขอหวย มีการให้พรขอให้รวยๆ เรื่องใหญ่เรื่องที่สองก็เกี่ยวข้องกับพิธีสะเดาะเคราะห์ที่ในขณะทำพิธีจะมีผู้ร่วมงานแสดงตัวเหมือนร่างทรงผีเข้าหรือกลายร่างเหมือนไปเป็นสัตว์ประหลาดจำนวนมาก
- นี่ก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่า ทางทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ได้ทำการขออนุญาตบรรดาผู้คนที่ถูกถ่ายแล้วหรือยัง ในเมื่อหนังตั้งใจที่จะทำให้คนดูๆ แล้วมีความรู้สึกและทัศนคติในแง่ลบเหมือนให้มองสิ่งที่คนที่ถูกถ่ายเป็นเป็นความศรัทธากลับกลายเป็นเรื่องงมงายสำหรับผู้ชม แต่ก็ไม่แน่ เรามองในฐานะคนนอกที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ แต่คนที่อยู่ในพิธีอาจไม่รู้สึกตามสายตาของคนนอก อาจเห็นเป็นเรื่องปกติเพราะหนังก็ไม่ได้บรรยายอะไรเสียหายเกินเลยไปจากภาพที่เขาถ่ายมา
ในส่วนของเรามีเพียงความข้องใจเรื่องที่พระโดนตัวผู้หญิงในขณะทำพิธีกรรมชัดเจน ถ้าสิ่งที่ถ่ายมานี้เป็นเรื่องจริงไม่ใช่การแสดง ทำไมจึงไม่มีใครว่ากล่าวหรือเป็นข่าวดำเนินการใดๆ กับพระอาจารย์เหล่านี้เลยก็ไม่ทราบ ส่วนตัวเรามีความเห็นว่าพระที่ทำพิธีที่โดนตัวผู้หญิงนั้นไม่ได้ทำด้วยราคะและไม่ได้เกิดความกำหนัด และไม่ได้มองผู้หญิงในพิธีเป็นสีกา แต่มองอย่างเมตตาเหมือนเป็นหมาแมว สัตว์เดรัจฉาน อสูรกาย หรือปีศาจนรกก็เป็นได้ มองด้วยเจตนาช่วยเหลือโปรดสัตว์แบบนี้ก็จะไม่เกิดอาบัติ
2 ใน 3 ของหนังในช่วงแรกถ่ายทำตัดต่อหลายสถานที่ในภาคเหนือและอีสาน ไม่มีตัวหนังสือขึ้นให้ว่าเหตุการณ์ไหนอยู่วัดไหน แต่ถ้าตาไวและเคยไปเที่ยวก็จะสามารถจับได้ว่าที่ใดบ้าง หรืออาจรอดูในเครดิตท้ายเรื่องจะบอกสถานที่ถ่ายทำทั้งหมด ไฮไลท์สุดท้ายของหนังคือช่วงหลังเป็นประเพณีกินเจของชาวภาคใต้ ที่เน้นการทิ่มแทงตัวเองด้วยของมีคมเป็นการรวมภาพความน่ากลัวหวาดเสียวเต็มๆ ดูแล้วไม่แปลกใจเลยว่าทำไมภูเก็ตจึงเป็นจังหวัดที่รวยที่สุด เพราะเขาบูชาเทพเจ้าด้วยความยากลำบากทุกข์ทรมานอย่างที่สุดถึงขนาดนี้นี่เองครับ จึงได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการไหว้บูชาแค่ดอกไม้ธูปเทียนหลายเท่านัก