สาระน่ารู้ พิษร้ายจากเนื้อปลาปักเป้า ในเมืองไทย มันคืออาหารจานอันตราย
ในเมืองไทย มันคืออาหารจานอันตราย
อ่านข่าวย้อนหลังเจอข่าวที่ว่า
แพทย์ชาวไทยกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่ามีพ่อค้าไร้ศีลธรรมได้นำเนื้อปลาปักเป้าที่มีพิษร้าย แรงมากมาหลอกขายให้ลูกค้า
โดยโกหกว่าเป็นเนื้อปลาแซลมอน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 15 รายในรอบสามปีที่ผ่านมา และผู้บริโภคอีกกว่า 115 คนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ถึงแม้ว่ามันจะถูกห้ามค้าในเมืองไทยตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ปลาปักเป้าก็ยังคงถูก
ขายอยู่เป็นปริมาณมากในแหล่งตลาดและร้านอาหารท้องถิ่น
ใน ประเทศญี่ปุ่น ปลาปักเป้านี้มีชื่อเรียกว่า ฟุกุ และถูกเตรียมเป็นอาหารโดยพ่อครัวที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี และถูกบริโภคโดยนักชิมชาวญี่ปุ่นที่แสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ปลาปักเป้า ปักเป้าทุกชนิดเป็นปลาที่มีพิษในตัว โดยเฉพาะอวัยวะภายในและรังไข่ แม้บริโภคเพียงเล็กน้อยก็อาจถึงแก่ความตายได้ แต่บางชนิดในบางแหล่งน้ำหรือบางภูมิภาคก็มีผู้จับมาบริโภค โดยต้องรู้วิธีชำแหละเป็นพิเศษ เช่น ประเทศญี่ปุ่น นิยมบริโภคปลาปักเป้าโดยทำเป็นซูชิ จนเป็นอาหารประจำชาติญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จัก
นโยบายกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีโครงการอาหารปลอดภัย ยังมีปัญหาให้ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลา เพราะความเห็นแก่ตัวของคนทำมาค้าขาย คนซื้อถูกขายแพงหวังแต่ผลกำไร
ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องการจำหน่ายปลาปักเป้าตามตลาดสด ซึ่งเรียกกันตามท้องตลาดว่าปลาเนื้อไก่ เป็นปลาที่มีสารพิษชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) พิษมีมากที่สุดในหนังปลา
รองลงมาเป็นไข่ปลา เนื้อปลา ตับ และลำไส้ตามลำดับ ผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการหลังจากรับประทานประมาณ 10-45 นาที บางรายอาจนานถึง 4 ชั่วโมง
ขึ้นอยู่กับปริมาณของพิษที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป โดยจะมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว รูม่านตาขยายและไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หัวใจจะหยุดเต้นและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาปักเป้าทุกชนิด ทั้งนี้ ในกรณีปลาที่จะซื้อกินมีลักษณะที่น่าสงสัยว่าเป็นปลาปักเป้า คือ เนื้อขาวคล้ายเนื้อไก่ ไม่มีหนัง ราคาถูกประมาณ 30-70 บาทต่อกิโลกรัม หรือปลาที่ใช้ชื่อว่า ปลาเนื้อไก่ ปลาช่อนทะเล ก็ไม่ควรซื้อมารับประทาน เพราะพิษจากปลาปักเป้าไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน
ดังนั้น แม้ผ่านการต้ม ทอด ย่างก็ยังไม่สามารถรับประทานได้
เมื่อผู้บริโภคไปซื้อปลาตามท้องตลาด หรือที่ไหนก็ตาม หากไม่เห็นลักษณะของตัวปลา หรือเป็นเนื้อปลาที่ไม่มีหนัง ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีโอกาสเป็นปลาปักเป้า
หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยง ที่นิยมนำปลาปักเป้ามาประกอบ ได้แก่ ไข่ปลาทอด/ต้ม ปลาทอด/ปิ้ง/ย่าง ต้มยำปลา ก๋วยเตี๋ยวปลา ต้มยำไข่ปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย เป็นต้น
องค์การอาหารและยา(อย.) หรือกระทรวงสาธารณสุขควรมีมาตรการลงโทษ ผู้ที่กระทำผิด ผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายปลาปักเป้า อย่างเด็ดขาด และหมั่นลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ผู้บริโภคควรศึกษาการสังเกตเนื้อปลาปักเป้าด้วยตนเอง ซึ่งมีวิธีสังเกตง่ายๆคือ เนื้อปลาปักเป้าเมื่อแล่แล้วจะมีลักษณะเป็นชิ้นหนา สีออกขาวอมชมพู มัดกล้ามเนื้อ มีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน
ด้านข้างลำตัวเมื่อลอกหนังออกจะมีพังผืดติดอยู่เมื่อเปรียบเทียบเนื้อปลาปักเป้ากับเนื้อปลากะพง พบว่าเนื้อปลากะพงจะมีลักษณะเป็น ชิ้นที่บางกว่า มัดกล้ามเนื้อมีขนาดเล็กกว่า ทำให้มองเห็นเป็นริ้วถี่ ๆ และด้านข้างลำตัวเมื่อลอกหนังออกจะเห็นกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจน (ไม่มีพังผืดติด) ซึ่งเป็นข้อแตกต่างระหว่างเนื้อปลาปักเป้ากับเนื้อปลาชนิดอื่น
ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที