ปล่อย "กลไกตลาด" ทำงานเสรี ทางออกสินค้าปศุสัตว์ นักวิชาการแนะ ‘ไก่ ไข่ ปลา’ ทางเลือกผู้บริโภค
ภาวะราคาเนื้อหมูที่ปรับขึ้นในช่วงนี้ ทำให้เกษตรกรต้องตกเป็นจำเลยสังคมอีกครั้งว่าเป็นต้นเหตุ ทั้งที่จริงๆแล้วคนเลี้ยงหมูต้องแบกภาระขาดทุน จากต้นทุนการผลิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 99 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 96-98 บาทต่อกิโลกรัม แต่เหตุไฉนเมื่อราคาหมูหน้าฟาร์มไปถึงผู้บริโภค กลับต้องซื้อเนื้อหมูราคาแพง
เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในห่วงโซ่การผลิตจนถึงการขายเนื้อหมูไปยังผู้บริโภค ทุกขั้นตอนมีต้นทุนทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่นหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มราคา 96-98 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะขายขาดที่หน้าฟาร์มได้กำไรหรือขาดทุนตามแต่จะตกลงกับพ่อคาจับหมูที่มารับซื้อ โดยส่วนนี้พ่อค้าจะทำการขนหมูเข้าโรงเชือดซึ่งมีค่าขนส่งและมีค่าน้ำหนักหมูที่หายไประหว่างขนส่ง (จากส่วนของมูล และปัสสาวะ) ต้นทุนส่วนนี้ประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อถึงโรงเชือด จะมีค่าจ้างเชือดและมีน้ำหนักสูญเสีย (เลือดและขน) กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นหมูซีกจะถูกขนส่งต่อไปที่แม่ค้ามีค่าขนส่งอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อรวมต้นทุนแม่ค้าและค่าบริหารจัดการ-วัสดุ-อุปกรณ์ในการขาย เช่น ค่าเช่าแผง ค่าลูกจ้าง ค่าน้ำแข็ง ประมาณ 1 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับต้นทุนที่เขียงรวม 111-113 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้การคำนวณราคาเนื้อหมูโดยปกติจะใช้สูตร ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม คูณด้วย 2 เท่ากับราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียงควรจะอยู่ที่ 192-196 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาแต่ละพื้นที่อาจจะสูงหรือต่ำกว่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับภาวะตลาด จากอัตราการบริโภคในพื้นที่นั้นๆ กับปริมาณผลผลิตหมูที่ออกสู่ตลาดว่าสอดคล้องกันหรือไม่ โดยการขึ้นหรือลงของราคา เป็นไปตามกลไกตลาดนั่นเอง
มาถึงตรงนี้เราๆท่านๆคงเข้าใจที่มาที่ไปของราคาหมูหน้าเขียงแล้ว และต้องทำความเข้าใจว่าเหตุที่เกษตรกรจำเป็นต้องขายหมูราคานี้ก็เพราะต้นทุนการเลี้ยงที่พุ่งสูงขึ้นไปอย่างไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งสาเหตุหลักๆเกิดจาก ปัญหาโรค ASF ที่พบเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และความวิตกของเกษตรกรที่มีต่อภาวะโรค จึงมีเกษตรกรเลิกเลี้ยงหมูไปมากกว่าครึ่ง ทำให้ปริมาณหมูหายไปจากระบบ จนถึงวันนี้การเลี้ยงหมูก็ยังไม่ได้กลับมาเต็มกำลังการผลิตของทั้งประเทศ ปัจจุบันปริมาณหมูลดลงไปมากกว่า 40-50% จากภาวะปกติ
ขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบสำรหับผลิตเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ต่างปรับราคาขึ้น สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบราคาเมื่อปี 2563 กับปัจจุบัน พบว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ราคาสูงขึ้นถึง 41% ขณะที่ข้าวสาลีนำเข้าราคาปรับไปถึง 76% กากถั่วเหลืองนำเข้าราคาสูงขึ้น 67% และปลาป่น ราคาเพิ่มขึ้นถึง 30% คิดเป็นต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว 25-30% และยังมีต้นทุนค่าพลังงาน ทั้งไฟฟ้าและน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก ยังไม่นับผลกระทบภัยแล้งที่ทำให้เกษตรกรต้องซื้อน้ำมาใช้ในฟาร์ม รวมถึงอัตราเสียหายในฟาร์มที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนและหมูโตช้าต้องเลี้ยงนานขึ้น กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เกษตรกรขอให้ผู้บริโภคเข้าใจในภาระที่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับ และขอให้ปล่อยกลไกตลาดทำงานต่อไป เพื่อให้ราคาหมูสะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างที่แท้จริง หากราคาปรับขึ้น ตลาดจะปรับตัว การบริโภคจะลดลงจนกลับสู่สมดุลเอง วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ ที่สำคัญ กลไกตลาดทำงานที่ทำงานอย่างเสรี โดยไม่มีใครมาควบคุม คือ “สูตรสำเร็จ" ในการแก้ปัญหาราคาสินค้าทุกประเภท
สำคัญที่สุด ผู้บริโภคคือหัวใจหลักของเรื่องนี้ เพราะวันนี้ราคาสินค้าทุกประเภทต่างปรับตัวขึ้นทั่วทั้งโลก จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและผลกระทบสงคราม ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย และต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคยังมีทางเลือกอีกมากมายในการบริโภคเนื้อสัตว์ หรืออาหารโปรตีนต่างๆ ทั้งเนื้อไก่ ซึ่งถือเป็นอาหารในหมวดหมู่โปรตีน ที่นำมาใช้ทดแทนเนื้อหมูอยู่แล้ว รวมถึงไข่ไก่ ไข่เป็ด ปลาหลากหลายชนิด หรือแม้แต่กุ้งและสัตว์น้ำต่างๆ ให้สามารถเลือกซื้อหามาบริโภคได้ ซึ่งถือเป็นการช่วยเกษตรกรทั้งผู้เลี้ยงหมูและเกษตรกรเลี้ยงสัตว์อื่นๆด้วย
ในทางกลับกันเกษตรกรไม่มีทางเลือก เพราะเขายึดการเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเดียวในการเลี้ยงตัวเอง ความเห็นใจ ความเข้าใจ และความช่วยเหลือ จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรกำลังเรียกร้องจากทั้งผู้บริโภคและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และคำแนะนำที่ให้ผู้บริโภคเลือกโปรตีนหลากหลายทดแทนกันนี้ ก็เป็นคำแนะนำที่ถูกต้องและให้ผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน ถ้าเห็นว่าหมูแพงก็แค่เปลี่ยนไปบริโภคอย่างอื่นแทน เท่านี้ปริมาณหมูก็กลับสู่สมดุลการบริโภค ราคาก็จะปรับสู่ปกติได้อย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก: กรมประชาสัมพันธ์