สัตวแพทย์ ยืนยัน หมูไทยมีมาตรฐานปลอดภัย ไร้สารเร่งเนื้อแดง ปลอดยาปฏิชีวนะตกค้าง
ปัจจุบันภาพรวมการผลิตสุกรในประเทศไทย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนแล้ว ประเทศไทยถือได้ว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตดีที่สุด แม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะเจอวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังสามารถแสดงศักยภาพเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าหมูไทยยังคงมีคุณภาพดีไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตสุกรในบ้านเรามีประสิทธิภาพดีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการนำเทคโนโลยีระดับสูงตามมาตรฐานสากลมาใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ก่อนที่จะได้เนื้อหมูคุณภาพดีให้เราได้เลือกซื้อ คือเริ่มตั้งแต่สุกรต้องมาจากฟาร์มที่ดีมีมาตรฐาน มีการเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด หรือที่เรียกว่า Evaporative cooling system (EVAP) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ข้อดีของโรงเรือนระบบปิดคือ สามารถควบคุมอุณหภูมิของอากาศภายในโรงเรือน ทำให้สุกรมีความเป็นอยู่ที่สบาย สุขภาพแข็งแรง สามารถควบคุมอัตราการป่วยและป้องกันโรคได้ง่ายขึ้น เพราะบางโรคมาจากพาหะที่มาจากสิ่งแวดล้อม เช่น นก หนู แมลง นอกจากนี้ยังสามารถลดกลิ่นและควบคุมเรื่องน้ำเสียได้ดี ประเด็นต่อมาคือการใช้วัคซีน เนื่องจากประเทศไทยฟาร์มส่วนใหญ่เป็นฟาร์มมาตรฐานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ เพราะฉะนั้นจะมีสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม กระบวนการใช้ยาและวัคซีน ที่จะต้องผ่านสัตวแพทย์เป็นผู้สั่งใช้
สำหรับเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเชื้อดื้อยา การใช้ยาอย่างรับผิดชอบคือใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เช่น สัตว์ป่วยจึงจำเป็นต้องใช้ในการรักษา แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคและแสดงถึงความรับผิดชอบของภาคการผลิตนั้น คือ ระยะเวลาในการหยุดยา นอกจากนี้จะมีการตรวจสอบที่ปลายทาง มีการเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์เพื่อดูว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือไม่ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าเนื้อสุกรที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานนั้น ไม่มียาปฏิชีวนะตกค้างอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี การตระหนักและตื่นตัวในเรื่องของการลดการใช้ยาปฎิชีวนะ ผนวกกับมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตข้างหน้านี้ จะมีวัคซีนที่จะถูกนำมาใช้ในวงการปศุสัตว์แทนการใช้ยาปฏิชีวนะ นั่นคือ Autogenous vaccines ซึ่งจะลดการป่วยของสุกรและทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างยั่งยืน จึงกล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของฟาร์ม สัตวแพทย์ บริษัท หรือคนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้
อีกประเด็นที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ นั่นคือเรื่องของการใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกร ซึ่งคนไทยสามารถภูมิใจได้ว่าด้วยนโยบายของภาครัฐ ทำให้เนื้อหมูที่บริโภคในปัจจุบันปราศจากสารเร่งเนื้อแดง เนื่องจากประเทศไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2546 ที่สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (อียู) และอีกหลายประเทศ ทั้งรัสเซีย จีน ที่มีการห้ามการใช้ สารเร่งเนื้อแดง เพื่อปกป้องความปลอดภัยด้านอาหารแก่ประชาชน
คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อและบริโภคเนื้อหมูอย่างปลอดภัย ควรพิจารณาลักษณะสีของเนื้อหมูควรเป็นสีชมพูอ่อนตามธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีสิ่งผิดปกติอื่นๆ และสถานที่จำหน่ายต้องมีตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK หรือสัญลักษณ์ตัวอักษร Q ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถการันตีได้ว่าเนื้อหมูนั้นปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้บริโภคควรปรุงเนื้อหมูให้สุกก่อนรับประทานเพราะความร้อนสามารถทำลายเชื้อโรคและป้องกันการเกิดโรคต่างๆในคนได้
ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์
รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน
ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อ้างอิงจาก: ประชาชาติธุรกิจ