แปรรูปข้าว จากภูมิปัญญาดั้งเดิม "หมี่โคราช หมี่100ปี กุดจิก"
กว่า 100 ปี ที่ชุมชนกุดจิกได้ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของหมี่โคราช ซึ่งอาชีพดั้งเดิมของชาวกุดจิก คือ ทำนา หลังฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมาสีด้วยเครื่องสีข้าวโบราณ แล้วนำข้าวสารมาตำด้วย ครกกระเดื่อง เรียกว่า การซ้อมข้าว แล้วนำปลายข้าวที่แตกหักมาโม่เป็นแป้ง ด้วยเครื่องโม่หิน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทำหมี่ ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านนำมาใช้แปรรูปและถนอมอาหาร ซึ่งเส้นหมี่โคราช มีลักษณะคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยวแต่บางกว่าเล็กน้อย เอกลักษณ์ของ กุดจิกหมี่โคราช 100 ปีนี้ คือ การทำเส้นหมี่จากแป้งข้าวที่โม่สดๆ ไม่มีส่วนผสมอื่นใดอีก ไม่ต้องแช่น้ำก่อนปรุง หมี่ไม่ติดกันเป็นก้อน และเส้นเหนียวนุ่ม อีกทั้งมีความหอมอ่อนจากข้าว รสชาติหวานธรรมชาติจากข้าวแท้ๆ
ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการแปรรูปข้าวให้กลายเป็นหมี่โคราช หมี่กุดจิกโบราณ ด้วยขั้นตอนและวิธีการที่น่าอนุรักษ์ ดังนี้
1.แช่ข้าวสารเจ้า 15 กิโลกรัม ประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าจะให้ดีใช้ข้าวสารที่เป็นข้าวแข็งและเป็นข้าวเก่าข้ามปียิ่งดี เพราะจะได้แป้งข้าวที่เหมาะพอดี ไม่อ่อนจนเละ หรือแข็งจนไม่ติดกัน ยิ่งใช้เป็นข้าวสังข์หยดยิ่งดี...เพราะทั้งหอม นุ่ม และ เหนียว
2.เมื่อแช่ครบเวลา ให้น้ำข้าวสารนั้นมาโม่ด้วยเครื่องโม่ไฟฟ้า หรือมีเครื่องโม่หินยิ่งดี เพราะจะช่วยเพิ่มความหอมได้มากขึ้น ก็จะได้น้ำข้าวในปริมาณ 15 กิโลกรัม ผสมน้ำเล็กน้อยให้แป้งข้าวข้นพอดี
3.เตรียมเตาดินแบบโบราณซึ่งทำจากดินเหนียวผสมกับแกลบข้าว ด้านใต้ทำเป็นปล่องไฟสำหรับใส่ฟืน พร้อมเตรียมฟืนไม้ไว้ให้เพียงพอสำหรับการให้ความร้อน
4.เตรียมหม้อสำหรับทำแผ่นหมี่โดยใช้คอหม้อทรงสูงปากกว้าง มาขึงด้วยผ้าขาวบางให้ตึง เปิดรินผ้าประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อให้ไอน้ำพุ่งขึ้นมาได้ นำมาวางบนกระทะเติมน้ำใส่กระทะ 2 ส่วน 3 ของคอหม้อ ปิดฝาหม้อต้มน้ำให้เดือด
5.ใช้ขันโลหะก้นมน ตักน้ำแป้งเทลงบนผ้า พร้อมใช้ก้นขันเกลี่ยเป็นวงกลมให้ทั่วผ้า ไม่หนาหรือบางจนเกินไป ปิดฝาทิ้งไว้ 45 วินาที ให้แป้งสุก
6.นำไม่ไผ่ชโลมน้ำ ค่อยๆ แซะแผ่นแป้งออกจากเตา แล้วนำแผ่นแป้งไปตากแดด บนตะแกรงไม้ไผ่นานประมาณ 1 ชม.
7.เมื่อแผ่นแป้งเริ่มแห้ง (สังเกตได้ว่าเริ่มติดมือ) ให้ใช้น้ำมันพืชทาแผ่นแป้งให้ทั่ว เพื่อไม่ให้แผ่นแป้งติดกัน
8.นำแผ่นแป้งที่ทาน้ำมันแล้ว วางซ้อนกัน 10-15 แผ่นแล้วม้วนเป็นวงกลม ใช้มีดซอยหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร แล้วนำเส้นหมี่ที่ซอยแล้วไปวางไว้บนตะแกรงไม้ไผ่ ตากให้แห้ง แล้วมัดด้วยตอกสีชมพู ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของ "หมี่กุดจิก" เป็นอันเรียบร้อย
การจำหน่าย มี 2 แบบ
-แบบหมี่สด สำหรับนำไปทำเมนูหมี่ยำ ขายในราคา กิโลกรัมละ 50 บาท (ซอยมือ)
-แบบหมี่แห้งบรรจุถุงพร้อมน้ำปรุง ขายในราคาห่อละ 25 บาท (ซอยเครื่อง)
อ้างอิงจาก: ภูมิปัญญาดั้งเดิมหมี่โคราชโบราณ