ชาวอินเดียไม่ได้เรียกประเทศของตัวเองว่า "อินเดีย"
อินเดีย (India) นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่า สำหรับชาวอินเดียแล้ว กลับไม่ได้เรียกประเทศของพวกเขาว่าอินเดียแต่อย่างใด
อินเดีย (India) นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่า สำหรับชาวอินเดียแล้ว กลับไม่ได้เรียกประเทศของพวกเขาว่าอินเดียแต่อย่างใด
โดยก่อนอื่นแอดมินจะขอพาทุกคนย้อนเวลากลับไปดูกันครับว่า ตลอดประวัติศาสตร์ของอินเดียที่ผ่านมา พวกเขามีชื่อเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าอะไรบ้าง
ย้อนกลับไปในช่วงราว 3,000 จนถึง 1,800 ปีก่อนคริสตกาล ในบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำสินธุ (Sindhu river) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย บริเวณแห่งนี้เป็นแหล่งที่ตั้งของอารยธรรมโบราณของชาวดราวิเดียน (Dravidian) หรือที่เรียกว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus valley civilization)
ชาวดราวิเดียนได้สร้างนครรัฐหลายแห่งอยู่ในบริเวณแห่งนี้ ที่เป็นที่รู้จักก็คือนครโมเฮนโจดาโร และนครฮารัปปา
จนกระทั่งในช่วง 1,800 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมของชาวดราวิเดียนก็เริ่มเสื่อมถอย อันเป็นผลจากการที่ได้มีชนกลุ่มใหม่ซึ่งก็คือ ชาวอารยัน (Aryan) ที่อพยพมาจากอิหร่าน ได้เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ และขับไล่ชาวดราวิเดียนให้ลงไปทางใต้ของอินเดีย บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุจึงตกเป็นของชาวอารยันนับแต่นั้นมา
ซึ่งในช่วงที่ชาวอารยันได้สร้างอารยธรรมและอาณาจักรของตนอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียนั้น อารยธรรมที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งก็คือชาวเปอร์เซีย ก็ได้เรียกดินแดนของชาวอารยันในอินเดียว่า ดินแดนของชาวสินธุ
แต่คำว่าสินธุอันเป็นคำในภาษาสันสกฤต เมื่อออกเสียงหรือพูดตามภาษาเปอร์เซีย จะกลายเป็นคำว่า ฮินดุซ (Hindush) หรือที่ในเวลาต่อมาจะกลายมาเป็นคำว่า ฮินดู (Hindu) นั่นเอง
ต่อมาคำว่าฮินดุซหรือฮินดูที่ชาวเปอร์เซียใช้เรียกดินแดนชาวอารยันในอินเดีย ก็ได้ถูกเผยแพร่ไปยังดินแดนตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอารยธรรมกรีก
โดยชาวกรีกก็ได้เรียกคำ ๆ นี้ ตามภาษาของตนว่า อินดอส (Indos) และกลายเป็นคำว่า อินดุส (Indus) ในภาษาละตินของชาวโรมัน ก่อนที่จะกลายเป็นคำว่า อินเดีย (India) ในเวลาต่อมา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สำหรับชาวอารยัน (ที่ต่อมาจะกลายเป็นชาวอินเดียนั้น) พวกเขากลับไม่ได้เรียกประเทศหรือดินแดนของพวกตนว่าอินเดีย นั่นก็เพราะพวกเขาได้เรียกดินแดนของตนว่า ภารัต (Bharat) (เริ่มคุ้นหูแล้วใช่ไหม )
โดยคำว่าภารัตมีที่มาจากชื่อของท้าวภรต (อ่านว่า ภารตะ | Bharata) ซึ่งเป็นชื่อของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ตามตำนานมหากาพย์มหาภารตะ (Mahabharata) ของอินเดีย
ด้วยความที่ตำนานได้เล่าไว้ว่า ท้าวภรตได้สร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในดินแดนอนุทวีป รวมถึงความเชื่อที่ชาวอินเดียเชื่อว่า พวกตนคือลูกหลานของท้าวภรต ด้วยเหตุนี้ชาวอินเดียจึงเรียกดินแดนของตนตามพระนามของท้าวภรตนั่นเอง
นอกจากคำว่าภารัต ยังมีอีกคำหนึ่งก็คือ อารยวรรต (Aryavarta) โดยคำนี้ก็มีความหมายว่า ดินแดนของชาวอารยัน
• ในช่วงแรกทั้งคำว่าภารัตและอารยวรรต ถูกใช้เรียกบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อชาวอารยันสามารถครอบครองพื้นที่อนุทวีปอินเดียได้ คำดังกล่าวจึงถูกใช้เรียกอนุทวีปอินเดียทั้งหมด
นอกจากนี้ในช่วงศตวรรษที่ 17 เมื่ออินเดียถูกปกครองโดยจักรวรรดิมุคัล (หรือโมกุล) ซึ่งเป็นจักรวรรดิของชาวมุสลิมและรับวัฒนธรรมแบบเปอร์เซีย ดินแดนอินเดียก็ได้ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ฮินดูสถาน (Hindustan) อันมีความหมายว่า ดินแดนของชาวฮินดู
จนถึงปัจจุบัน ชาวอินเดียก็ยังคงเรียกประเทศของพวกเขาว่าภารัต ชื่ออย่างเป็นทางการของอินเดียตามภาษาฮินดีก็เรียกว่า ภารัต คณราชยะ (Bharat Ganarajya) ที่แปลว่า สาธารณรัฐภารัต รวมไปถึงรัฐธรรมนูญของอินเดียก็มีการกำหนดให้คำว่า “ภารัต” กับ” อินเดีย” มีความหมายเท่ากัน