ฟังความ 2 ฝ่าย ทอท.แก้สัญญาสัมปทาน เยียวยาผู้ประกอบการในสนามบิน ผิด พรบ.วินัยการเงินการคลัง หรือไม่?
เริ่มมีการพูดถึงประเด็นการแก้สัมปทานเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบินกันอีกครั้ง แล้วก็คิดว่าไม่น่าจะหายไปจากสังคมได้ง่ายๆ แน่ คนทั่วไปส่วนใหญ่ก็อาจจะมุ่งเป้าไปยังดิวตี้ฟรี จนลืมคิดไปว่าในสนามบินนั้นก็มีผู้ประกอบการอีกหลายเจ้า ที่ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ขายอาหาร เปิดบริการในด้านต่างๆ ให้กับผู้โดยสารในสนามบิน มิได้มีการเอื้อเพียงแค่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง และการที่ ทอท. ตัดสินใจเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบิน ก็เป็นเพราะว่าสถานการณ์โควิดที่มีคำสั่งปิดประเทศจากรัฐบาล ดังนั้นจึงทำให้สนามบินไม่มีผู้โดยสารมาใช้บริการจนทำให้ผู้ประกอบการที่มีสัญญาการเช่าพื้นที่ หรือมีสัญญาสัมปทานไม่สามารถหารายได้ได้เหมือนเดิม ทอท. ในฐานะที่ต้องบริหารจัดการพื้นที่ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนดำเนินงาน บริหารงานให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ ให้เป็นธรรมมากที่สุด โดยที่ผู้ประกอบการก็ยังคงอยู่รอด และ ทอท.เอง ก็ยังต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้จึงมีอดีต รมว.คลัง เคยทำหนังสือถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับเอกชน โดยปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนที่ภาครัฐพึงได้รับจากการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. อาจถือเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้รัฐเสียหายหรือไม่
“การดำเนินงานแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวนี้ อาจก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ
ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของเรื่องต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 7 นอกจากนี้ ในมาตรา 27 ยังกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องต้องจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย รวมทั้งแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และผลประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการด้วย” ทาง สำนักรัฐฯ จึงขอให้ ทอท. ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และแจ้งผลการพิจารณาให้สำนักรัฐฯ ทราบด้วย
https://thaipublica.org/2022/01/state-audit-commission-examined-aot-amend-concession-contract/
ทาง ทอท. โดยนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า
“ทอท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้งบประมาณของตนเอง มิได้รับจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ การจัดทำงบประมาณของ ทอท.เป็นไปตามข้อบังคับ ทอท. ข้อ 54 (3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2550 รวมถึงพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2561
ทอท.จึงมีความเห็นว่า การพิจารณากำหนดมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ทอท.ที่จะพิจารณาดำเนินการได้
เนื่องจากเป็นการกระทำโดยสุจริตโดยอำนาจบริหาร และยังเป็นการดำรงไว้ซึ่งรายได้ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารธุรกิจ โดยได้มีการวิเคราะห์ข้อดี – ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) อย่างครบถ้วน และพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ”
นอกจากนี้ ทอท.ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณา และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ แล้วว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ.2561
https://www.thansettakij.com/business/512831
เมื่อฟังความจากทาง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ตั้งข้อสงสัย และฝ่ายที่ตอบคำถามแล้ว ก็เข้าใจถึงเหตุผลที่ทาง ทอท. ได้มีการปรับเปลี่ยนสัญญา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปรับเปลี่ยนสัญญาก็ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดอายุสัมปทาน เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น ซึ่งก็มีการคาดการณ์กันไว้ว่าทุกอย่างจะโอเคขึ้นในปี 2566 เมื่อถึงเวลาที่การเดินทางกลับมาคึกคักเหมือนเดิม ทอท.เองก็จะกลับไปใช้สัญญาเดิม เก็บค่าตอบแทนเท่าเดิมตามที่ได้ประมูลกันมา เป็นเหตุผลเป็นผลที่ยังทำความเข้าใจได้ง่ายอยู่
ของแบบนี้ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเรื่องพิสูจน์ ดังนั้นมันอยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาลแล้วว่าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วที่สุดได้เมื่อไหร่ เร่งฟื้นตัวให้ครบทุกมิติ และมีแผนฟื้นตัวระยะยาวเถอะครับ แล้วทุกอย่างมันก็จะกลับมาดีขึ้นเอง
อ้างอิงจาก: Thansettakij,thaipublica