จอประสาทตาเสื่อมคือโรคอะไร ทำไมถึงต้องเข้ารับการรักษา
เมื่ออายุสูงเพิ่มขึ้นอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะเกิดการเสื่อมสภาพลง โดยการเสื่อมสภาพที่เกิดขึ้นบนร่างกายก็จะเป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ มากมายรวมถึงดวงตาด้วยเช่นกัน เมื่อรู้สึกว่าเริ่มมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ผิดปกติ เช่น มองเห็นไม่ชัด ตาสู้แสงไม่ได้ เห็นภาพบิดเบี้ยวและอาการอื่น ๆ นั้นอาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ หากปล่อยไว้จะทำให้สูญเสียการมองเห็นบางส่วนซึ่งสายเกินรักษาได้
ทำความรู้จัก โรคจอประสาทตาเสื่อม
จอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่พบมากในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยโรคจอประสาทตาเสื่อมมีสาเหตุเกิดจากบริเวณส่วนกลางของจอประสาทตาเกิดการเสื่อมสภาพลง จึงทำให้การมองเห็นเกิดความผิดปกติหากไม่เข้ารับการรักษาอาจส่งผลทำให้ดวงตาสูญเสียการมองเห็นบางส่วนได้
จอประสาทตาเสื่อม แบ่งเป็น 2 ชนิด
1. จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD)
จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง เป็นประเภทที่พบมากเกือบ 90% ของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด โดยเซลล์จอประสาทตาจะบางและเสื่อมลง ทำให้มีการมองเห็นลดลงอย่างช้า ๆ ในผู้ป่วยบางรายมีโอกาสที่โรคจะพัฒนากลายเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกได้
2. จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD)
จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก เป็นประเภทที่พบประมาณ 10% ของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด โดยเกิดจากเส้นเลือดฝอยงอกผิดปกติหลังจอประสาทตา เมื่อเส้นเลือดฝอยแตก ก็จะทำให้ของเหลวในหลอดเลือดรั่วไปโดนจุดรับภาพ ทำให้จุดกลางรับภาพจอประสาทตาบวม และสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน
จอประสาทตาเสื่อม เกิดจากสาเหตุใด
จอประสาทตาเสื่อม เกิดจากการเสื่อมสภาพหรือเกิดความผิดปกติในส่วนกลางของจอประสาทตา ซึ่งแต่ละประเภทของจอประสาทตาเสื่อมจะแตกต่างกัน โดยจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งจะเป็นการเสื่อมตามสภาพร่างกาย ส่วนจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกจะเป็นการที่ของเหลวที่อยู่ภายในเส้นเลือดฝอยรั่วบริเวณจุดรับภาพ ทำให้จอประสาทตาบวม
ปัจจัยเสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อม
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมมีหลายประเภท ดังนี้
- อายุ โดยผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมมากขึ้น
- พันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม ก็มีโอกาสที่โรคจะถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดสูง
- ถูกกับแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตเป็นประจำ
- สูบบุหรี่ รวมถึงการดื่มสุรา
อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม
สัญญาณเตือนอาการเริ่มต้นของโรคจอประสาทตาเสื่อม
จอประสาทตาเสื่อม อาการเริ่มต้นมีสิ่งที่เหมือนกัน เช่น ตามัว เห็นจุดดำกลางภาพ เห็นภาพเบี้ยว ตาสู้แสงไม่ได้ เห็นสีเพี้ยน เป็นต้น แต่จะมีจุดอาการแตกต่างตามประเภทของโรค ดังนี้
อาการจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง
อาการเริ่มต้นจะมองเห็นไม่ชัด เบลอ หรือ เห็นจุดดำกลางภาพ และอาการจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนสูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพในที่สุด
อาการจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก
อาการเริ่มต้นจะมองเห็นไม่ชัด เห็นภาพเบี้ยว แต่เนื่องจากของเหลวที่อยู่ภายในหลอดเลือดรั่วออกมาจึงทำให้ดวงตาเห็นจุดดำกลางภาพขนาดใหญ่อย่างเฉียบพลัน ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคจอประสาทตาเสื่อม
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเพราะโรคจอประสาทเสื่อม เช่น
- ร่างกายมีประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง เช่น การอ่านหนังสือ การหยิบจับสิ่งของ การทำงาน การขับขี่ ฯลฯ เนื่องจากดวงตามีความสามารถในการมองเห็นลดลง
- ความวิตกกังวลเนื่องจากการมองเห็นลดลง ซึ่งอาจแปรเปลี่ยนเป็นภาวะซึมเศร้าได้
วิธีทดสอบจอประสาทตาเสื่อมด้วยตัวเองเบื้องต้น
จอประสาทตาเสื่อม เป็นภัยเงียบที่หลาย ๆ คนไม่ได้สังเกต ซึ่งในผู้ป่วยบางคนกว่าจะทราบว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมก็เป็นช่วงที่การมองเห็นเสียหายมากแล้ว ดังนั้น จึงขอแนะนำวิธีทดสอบเบื้องต้นด้วยตนเอง ดังนี้
- กรณีที่มีแว่นสายตาให้ใส่ก่อนทำการทดสอบ โดยจะทดสอบสภาพดวงตาทีละข้าง
- นำแผ่นตารางถือในระยะการอ่านหนังสือ หรือระยะประมาณ 30-35 เซนติเมตร
- มองไปที่่จุดตรงกลางตาราง หากเห็นเส้นเป็นเส้นตรง นับว่าสายตาปกติ แต่ถ้าหากไม่เห็นจุดตรงกลางตารางหรือว่าเห็นเส้นไม่ตรง เส้นซ้อน เส้นขาด หรือมีเงาดำบัง ถือว่าสายตาผิดปกติ ต้องรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง
การตรวจวินิจฉัยโรคจอประสาทตาเสื่อม
การตรวจวินิจฉัยจอประสาทตาเสื่อม สามารถตรวจได้หลายวิธี เช่น
ตารางตรวจจุดภาพชัด (Amsler grid)
เป็นการทดสอบอย่างง่ายด้วยการมองตารางตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทดสอบโดยการมองจุดตรงกลางของตาราง เพื่อตรวจดูว่าการมองเห็นมีความผิดปกติหรือไม่
เครื่องตรวจตา (Ophthalmoscopy)
นำยาหยอดเพื่อขยายม่านตาแล้วใช้เครื่องตรวจตาตรวจดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นข้างหลังจอประสาทตา
การตรวจจอประสาทตาโดยการฉีดสี (Fluorescein Angiography)
นำสารฟลูออเรสซีนที่เป็นสารละลายเรืองแสงมาฉีดเข้าไปในหลอดเลือดเพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือด ถ้าหากกรณีที่จุดรับภาพมีการบวม ก็จะเห็นตำแหน่งที่สีเกิดการรั่วได้ ซึ่งหลังจากผ่านไป 10 นาทีสารฟลูออเรสซีนจะค่อย ๆ จางหายไป
แนวทางการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาจอประสาทเสื่อมได้อย่างถาวร แต่ควรเข้ารับการรักษาจอประสาทตาเสื่อมเพื่อชะลออาการของโรค รวมถึงควบคุมไม่ให้อาการทรุดลงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
การฉายแสงเลเซอร์
- การฉายแสงเลเซอร์บนจอประสาทตา (Laser Photocoagulation)
เป็นการใช้เลเซอร์ฉายให้เกิดความร้อนบนจอประสาทตาเพื่อยับยั้งและชะลอการเกิดของเส้นเลือดที่ขึ้นอย่างผิดปกติบริเวณใต้จอประสาทตา แต่ว่าการรักษานี้มีข้อจำกัดที่ความร้อนยังทำลายหลอดเลือดและจอประสาทตาส่วนที่ปกติ อีกทั้งยังทำให้เกิดแผลเป็นที่เป็นลักษณะจุดดำมืด ทำให้บริเวณที่มีจุดดำจะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร แต่การสูญเสียจะรุนแรงน้อยกว่าการไม่เข้ารับการรักษา
- การฉายแสงเลเซอร์ควบคู่กับการให้ยาทางเส้นเลือด (Photodynamic Therapy : PDT)
เป็นการให้ยาทางเส้นเลือดให้จับกับเซลล์ที่มีการแบ่งตัวผิดปกติบริเวณใต้จอประสาทตา จากนั้นจึงฉายแสงเลเซอร์ที่ไม่เกิดความร้อนให้ยาเกิดปฏิกิรินาทำลายหลอดเลือดที่มีความผิดปกติ ซึ่งการรักษานี้จะมีข้อดีที่ว่าไม่ทำลายหลอดเลือดและจอประสาทตาส่วนที่ปกติ เหมือนกับการฉายแสงเลเซอร์บนจอประสาทตา อีกทั้งยังมีโอกาสรักษาให้การมองเห็นกลับมาใกล้เคียงกับปกติ แต่การรักษานี้มีข้อจำกัดที่ต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้งเพื่อเห็นผลและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
การฉีดยาในกลุ่ม Anti-VEGF
เป็นการฉีดยา Anti-VEGF เข้าไปในน้ำวุ้นตาในเยื่อบุตาขาว โดยยาในกลุ่มนี้จะเป็นตัวลดการอักเสบในตา และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นเลือดที่งอกอย่างผิดปกติ การรักษาด้วยวิธีนี้ ใน 1 เดือนควรเข้ารับฉีดยาอย่างน้อย 3 ครั้ง ระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน
การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาเสื่อม
เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหลอดเลือดที่ขึ้นผิดปกติออกจากข้างใต้จอประสาทตา รวมถึงยังสามารถรักษากรณีที่เลือดออกใต้จอประสาทตา โดยหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะมีการมองเห็นลดลง
วิธีป้องกันจอประสาทตาเสื่อม
ไม่มีวิธีที่จะป้องกันจอประสาทตาเสื่อได้อย่างสมบูรณ์ แต่สามารปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดจอประสาทตาเสื่อมได้โดย
- งดการสูบบุหรี่และดื่มสุรา
- หลีกเลี่ยงการอยู่ที่แจ้งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หากจำเป็นให้ใส่แว่นกันแดดเพื่อป้องกันดวงตาจากแสงแดด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่
- เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเข้ารับการตรวจตาเป็นประจำทุกปี
คำถามที่พบบ่อย
จอประสาทตาเสื่อม สามารถเกิดในคนอายุน้อยได้หรือไม่
สามารถเกิดได้ เนื่องจากโรคนี้สามารถเกิดได้ผ่านพันธุกรรม กล่าวคือ กรณีที่สมาชิกในครอบครัวมีโรคนี้ ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ได้แม้ว่าจะยังอายุน้อยก็ตาม นอกจากนี้การทำพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นระยะเวลานาน รวมถึงการโดดแสงแดดเป็นประจำ ก็ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้จอประสาทตาเสื่อมไวขึ้น
จอประสาทตาเสื่อม มีโอกาสทำให้ตาบอดได้ไหม
มีโอกาสทำให้ตาบอด แต่จอประสาทตาเสื่อมจะทำให้มองไม่เห็นในช่วงตรงกลางของภาพเท่านั้น ดวงตายังสามารถเห็นภาพบริเวณด้านข้างได้อยู่
มียารักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ มีเพียงแค่การฉีดยาเพื่อประคองอาการของโรคไม่ให้ทรุดตัวเร็วขึ้น รวมถึงระยะอาการของโรคก็มีส่วนด้วยเช่นกัน โดยยิ่งอาการของโรครุนแรงการใช้ยาในการรักษาก็จะมีประสิทธิภาพลดลง
จอประสาทตาเสื่อม ควรทานวิตามินอะไรบ้าง
จอประสาทตาเสื่อม ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามิน A ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยบำรุงสายตา โดยวิตามิน A พบได้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้แก่ ไข่แดง น้ำนม เนย และยังมีสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามิน A ได้ เช่น ลูทีน(Lutein) และซีแซนทีน(Zeaxanthin) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายต้องการเป็นอย่างมากต่อการลดความเสี่ยงการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม รวมถึงโรคเกี่ยวกับตาอื่น ๆ โดยพบสารลูทีนและซีแซนทีนมากในผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า บร๊อกโคลี่ ผักโขม ข้าวโพดหวาน ถั่ว และผลไม้ที่มีสีแดง ส้ม เหลือง เป็นต้น นอกเหนืจากวิตามิน A แล้วยังควรทานอาหารที่มีวิตามิน C E และกรดไขมันอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงดวงตา
ข้อสรุป
จอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับดวงตา ไม่สามารถรักษาให้หายขาดอย่างถาวร แต่หากไม่เข้ารับการรักษาก็จะทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้จอประสาทตาเสื่อมไวขึ้น และควรเข้ารับการตรวจสภาพดวงตาเป็นประจำเพื่อตรวจว่ามีความเสี่ยงเป็นจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่ นอกจากนี้หากการมองเห็นเกิดความผิดปกติก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและทำการรักษาก่อนที่จะสายเกินไป