เรื่องเก่าเล่าใหม่ รู้ไว้ไม่เสียหาย
เมื่อได้มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีนั้น
รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดให้แต่งตั้งการพระราชพิธี ยกเสาหลักเมืองตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองและประชาชน
พระฤกษ์ยกเสาหลักเมืองเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล
ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325
เวลา 06:54 น.
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชดำริว่าหลักเมืองชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่สง่างาม จึงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ อีกทั้งทรงตรวจดวงพระชะตาของพระองค์ ทราบว่าเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมืองกรุงเทพฯ
จึงทรงแก้เคล็ดโดยให้ช่างแปลงรูปทรงศาลหลักเมืองจากเดิมที่มีลักษณะเป็นศาลาและมีหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ให้เป็นอาคารจตุรมุขทรงประสาทยอดปรางค์ ก่ออิฐถือปูน ฉาบสีขาว
โปรดฯ ให้ถอนเสาหลักเมืองเดิมและประดิษฐานเสาหลักเมืองใหม่ พร้อมผูกดวงเมืองขึ้นใหม่ให้เป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล มีอุดมมงคลฤกษ์ ณ วันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย (เดือน 1) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2395
การฝังเสาหลักเมือง เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 นั้น ได้เกิดอวมงคลนิมิตขึ้น คือเมื่อถึงมหาพิชัยฤกษ์อัญเชิญเสาลงสู่หลุม ปรากฏว่ามีงูเล็ก 4 ตัวเลื้อยลงหลุมในขณะเคลื่อนเสา จึงจำเป็นต้องปล่อยเลยตามเลย โดยปล่อยเสาลงหลุมและกลบงูทั้ง 4 ตัวตายอยู่ภายในก้นหลุม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พระโหราจารย์ถวายคำทำนายว่า ชะตาเมืองจะอยู่ในเกณฑ์ร้ายนับจากวันยกเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน จึงสิ้นพระเคราะห์ และพระนครแห่งนี้ จักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไปเป็นเวลา 150 ปี ชะตาแผ่นดินที่ร้ายถึงเจ็ดปีเศษนั้น เป็นช่วงเวลาที่ไทยติดพันศึกพม่าในสงครามเก้าทัพ ซึ่งสิ้นสุดลงหลังครบห้วงเวลาดังกล่าว
ส่วนคำทำนายที่กล่าวว่าจะมีการดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไป 150 ปี ไปครบเอาปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินพอดี ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นั่นเอง
พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชสมภพในปีมะเส็ง (งูเล็ก) พ.ศ. 2436 จะทรงกังวลพระทัยในคำทำนายดังกล่าวหรือไม่ประการใด แต่ทรงสร้างสาธารณูปโภคมากมาย รวมถึงชักชวนเจ้านายที่ประสูติในปีมะเส็งด้วยกัน สร้างสิ่งสาธารณะเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชน ถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์
ทรงมีพระราชดำริให้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นอนุสรณ์ในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี
ในปี พ.ศ. 2475 คำทำนายเรื่องสิ้นแผ่นดินจึงได้รับการ
"แก้เคล็ด" โดยเกิดเป็นแผ่นดินใหม่ที่เชื่อมพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน พระบรมวงศานุวงศ์อีก 4 พระองค์ที่ประสูติปีเดียวกัน
ในปีมะเส็ง พ.ศ. 2424 คือ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ และ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสมทบกับเงินบริจาคของพระญาติมิตรสหาย สร้าง "ตึกสี่มะเส็ง" ให้แก่สภากาชาดสยาม
เมื่อปี พ.ศ. 2472 ปัจจุบันอาคารดังกล่าวถูกรื้อถอนไปแล้ว เพราะมีการชำรุดทรุดโทรมจากอายุการใช้งานอันยาวนาน สภากาชาดไทยได้สร้างอาคารหลังใหม่ในบริเวณเดิม แต่ยังคงใช้ชื่ออาคารว่า "ตึกสี่มะเส็ง" เพื่อหวนรำลึกถึงพระเมตตาของทั้งสี่พระองค์
การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ประสูติปีนักษัตรเดียวกันคือปีมะเส็ง ต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นิมิตงูเล็กในเสาหลักเมืองจึงออกจะเป็นเรื่องอัศจรรย์
คำทำนายการดำรงวงศ์กษัตริย์เป็นเวลา 150 ปี ไม่เป็นไปตามคำทำนาย เพียงเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
กรณีนี้ คงเป็นด้วยการสะเดาะเคราะห์ผ่อนหนักให้เป็นเบา และคงเนื่องด้วยพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงแก้อาถรรพณ์ถอนเสาหลักเมืองและวางดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่
ในปีพ.ศ .2525 กรุงเทพมหานครครบ 200 ปี
ศาลหลักเมืองได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ มีการรื้อศาลหลักเมืองหลังเดิมที่สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ 4 สร้างศาลหลักเมืองใหม่ขึ้นโดยยึดรูปแบบเดิมไว้ และนำเสาหลักเมืองต้นเดิม ที่เริ่มสร้างกรุงเทพมหานคร มาประดิษฐานคู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน
สาเหตุนี้ เสาหลักเมืองที่ประดิษฐานภายในอาคารศาลหลักเมืองจึงมี 2 ต้น เสาต้นสูง เป็นเสาเดิมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ที่ได้ทำพิธีถอนเสาแล้วนั้น
แต่หาที่เก็บที่เหมาะสมไม่ได้ จึงยังคงเก็บไว้ เสาหลักเมืองมีเสาแกนในเป็นไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้จันทร์ประกอบภายนอก ลงรักปิดทอง ยอดเสาเป็นดอกบัวตูมโคนเสามีบัวรองรับ โพรงข้างในบรรจุชะตาเมือง ดวงนี้อยู่ใจกลางยันต์สุริยาทรงกลด จารึกในแผ่นทอง เงิน และนาค
ส่วนเสาหลักเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คือต้นที่มีส่วนสูงทอนลงมา แกนในเป็นไม้สัก มีไม้ชัยพฤกษ์ประกอบนอก หัวเสาเป็นรูปยอดเม็ดทรงมัณฑ์ ปิดทองประดับกระจก มีฐานบัวหกเหลี่ยมและฐานสิงห์ประดับกระจกรองรับที่โคนเสา เป็นต้นที่สถิตประทับของพระหลักเมือง
มีเรื่องเล่ากันมากเกี่ยวกับการฝังหลักเมืองว่ามีการฝังคนทั้งเป็น เช่น ในหนังสือประวัติจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงการฝังหลักเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า
"เมื่อท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระยาถลาง (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ได้จัดหาสถานที่เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น และได้ตกลงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลางในปัจจุบันนี้ โดยเรียกว่า "บ้านเมืองใหม่" เมื่อจัดหาที่ได้แล้ว จึงได้ประกอบพิธีกรรมขึ้นเพื่อฝังหลักเมืองโดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์รวม 32 รูป เจริญพระพุทธมนต์อยู่ 7 วัน 7 คืน แล้วจึงให้อำเภอทนายป่าวร้องหาตัวผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมือง ผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมืองได้ต้องเป็นคนที่เรียกกันว่าสี่หูสี่ตา (คือคนที่ตั้งครรภ์นั่นเอง) การป่าวร้องหาตัวแม่หลักเมืองนี้ ได้ประกาศป่าวร้องเรื่อยไปตลอดทุกหมู่บ้านว่า โอ้เจ้ามั่น โอ้เจ้าคง อยู่ที่ไหนมา ไปประจำที่ ในที่สุดจึงได้ผู้หญิงชื่อนางนาคท้องแก่ประมาณแปดเดือนแล้ว นางนาคได้ขานตอบขึ้น 3 ครั้ง แล้วได้ติดตามผู้ประกาศไป ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เมื่อไปถึงหลุมที่จะฝังหลักเมือง นางนาคก็กระโดดลงไปในหลุมนั้นทันที ฝาหลุมก็เลื่อนปิด เจ้าพนักงานก็กลบหลุมฝังหลักเป็นอันเสร็จพิธีการฝังหลักเมือง"
สำหรับการฝังหลักเมืองกรุงเทพฯ นี้ เชื่อว่าไม่มีการนำคนทั้งเป็นมาฝัง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา และไม่ทรงโปรดให้พลีกรรมด้วยการฆ่าสัตว์ ภายในบริเวณศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ มีศาลเทพารักษ์อันเป็นที่ประดิษฐานของพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง เป็นเทพารักษ์สำคัญ 5 องค์ ทำหน้าที่ดูแลรักษาเมืองและประเทศชาติ
พระมหากษัตริย์และประชาชนให้ความเคารพนับถือมาแต่โบราณกาลว่า สามารถอำนวยความสุขสวัสดี พิพัฒนมงคล ป้องกันภัยพาลพิบัติอุปัทวทุกข์ทุกประการแก่ผู้เคารพบูชาได้
พระเสื้อเมือง
(เทวดาที่คุ้มครองรักษาบ้านเมือง) เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทอง ความสูง 93 เซนติเมตร พระหัตถ์ซ้ายถือคทา (ตะบอง) พระหัตถ์ขวาทรงจักร มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน
พระทรงเมือง
ลักษณะคล้ายพระเสื้อเมือง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทอง ความสูง 88 เซนติเมตร พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ พระหัตถ์ขวายกชูขึ้นถือสังข์หลั่งน้ำเทพมนตร์ มีหน้าที่รักษาการปกครอง กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ และดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
พระกาฬไชยศรี
เป็นรูปพระกาฬประทับอยู่บนหลังนกแสก สันนิษฐานว่าจะมาแต่อุมาปางหนึ่งซึ่งพวกฮินดูนิยมทำรูปไว้บูชา เรียกว่า "กาลี" พระกาฬเป็นบริวารของพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
เจ้าเจตคุปต์
เป็นเทพารักษ์แกะสลักด้วยไม้ เดิมมีศาลเล็ก ๆ อยู่ใกล้คุก ชาวบ้านจึงเรียกเพี้ยนเป็น เจ้าเจตคุก เป็นบริวารของพระยม มีหน้าที่จดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไป และอ่านประวัติของผู้ตายเสนอต่อพระยม
เจ้าหอกลอง
เป็นเทพารักษ์ประจำหอกลอง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทอง มีหน้าที่แจ้งเตือนเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เช่น เมื่อเกิดอัคคีภัย หรือมีข้าศึกศัตรูยกมาประชิดพระนคร และคอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ เที่ยงคืน
เจ้าหอกลองนี้ เดิมอยู่ที่ศาลใกล้หอกลองในสวนเจ้าเชต หอกลองนี้ถูกรื้อทิ้งไปในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมในหอกลองมีกลองอยู่ 3 ใบ ใบแรกชื่อ ย่ำพระสุริย์ศรี ใช้ตีบอกเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน ใบที่สองมีชื่อเรียกว่า อัคคีพินาศ ใช้ตีเวลาเกิดเพลิงไหม้ และใบที่สามมีชื่อว่า พิฆาตไพรี ใช้ตีเวลามีศึกสงครามบอกเหตุเรียกระดมพล
ปัจจุบันภายในบริเวณศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร นอกจากอาคารศาลหลักเมืองและศาลเทพารักษ์ ยังมีหอประดิษฐานพระพุทธรูปและพระบรมสารีริกธาตุ ศาลหลักเมืองจึงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เป็นที่ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พึ่งทางใจ ในแต่ละวัน จะมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาเคารพสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่เรื่อย ๆ
ที่มา Sukmongkol , G+ นารายณ์อวตาร NARAYAN 6