สาระ เกร็ดน่ารู้
บารอนเนสฮายาชิ ภริยาเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงลอนดอนในชุดเข้าเฝ้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และราชินีอเล็กซานดร้า 14 มีนาคม 1902
บารอเนสฮายาชิ ชื่อเดิม มิซาโอะ กาโม เป็นลูกสาวคนที่ 4 ของชิเกตามิ กาโม ภายหลังถูกรับเป็นบุตรบุญธรรมของเทอุน ยามาโนะกุจิ ข้าหลวงประจำจังหวัดคาโกชิม่า มิซาโอะสมรสตอนอายุเพียง 17 ปี กับฮายาชิ ทาดาสุ นักการทูตคนสำคัญที่จะกลายมาเป็นรัฐบุรุษของญี่ปุ่น
ในปี 1891 ฮายาชิ ทาดาสุ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ และได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางชั้นบารอน ทำให้สองสามีภรรยาถูกเรียกอย่างติดปากว่า “บารอนและบารอนเนสฮายาชิ” ภายหลังเมื่อการทูตระหว่างอังกฤษและญี่ปุ่นถูกยกระดับ บารอนฮายาชิได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นคนแรกประจำพระราชสำนักเซนต์เจมส์ของอังกฤษ บารอนเนสฮายาชิเข้าเฝ้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ที่ 7 และราชินีอเล็กซานดร้าอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มีนาคม 1902
บารอนฮายาชิเป็นผู้รับผิดชอบในการลงนามข้อตกลงพันธไมตรีระหว่างบริเตนใหญ่และญี่ปุ่นฉบับที่แรกเมื่อปี 1902 (กติกานี้ได้รับการต่ออายุอีกสองครั้งจนถึงปี 1923) ถือเป็นการยืนยันว่าอังกฤษจะไม่เข้าแทรกแทรงการขยายอำนาจของญี่ปุ่นในคาบสมุทรเหลียวตง (ซึ่งทำให้รัสเซียโกรธมาก หันไปเจรจาเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสและเยอรมันแทน แต่เยอรมันปฏิเสธ) หลังข้อตกลงครั้งนี้บารอนฮายาชิได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นไวเคานต์ ส่วนคู่สมรสได้รับการขานนามเป็นไวเคาน์เตส
ไวเคาน์เตสฮายาชิถือเป็นสตรีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในวงสังคมอังกฤษ หนังสือพิมพ์และนิตยสารติดตามลงข่าวเกี่ยวกับชุดที่เธอสวม กิจกรรมที่เธอทำ รวมไปถึงการเปิดบ้านเลี้ยงมื้อค่ำและปาร์ตี้ชายามบ่าย
“ไม่น่าเชื่อเลยว่าสตรีผอมบางดูอ่อนวัยผู้นี้จะเป็นคุณย่าแล้ว!” นิตยสารฉบับหนึ่งรายงาน
ในปี 1902 ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ภาพถ่ายได้รับการบันทึก ไวเคาน์เตสฮายาชิมีอายุ 44 ปี แต่ยังสวยไม่สร่าง เธออาศัยอยู่ที่อังกฤษกับสามี ลูกสาว ลูกชาย และหลานสาวอีกหนึ่งคน
หลังใช้ชีวิตที่อังกฤษได้สักพักสองสามีภรรยาฮายาชิก็ย้ายกลับญี่ปุ่น ท่านไวเคานต์ได้รับตำแหน่งใหม่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (ทำหน้าที่ระหว่างปี 1906-1908) และได้รับการเลื่อนขั้นอีกครั้งเป็นท่านเคานต์ (ทำให้ภรรยาได้รับคำนำหน้าชื่อเป็นเคานต์เตส) เคาน์เตสฮายาชิ หลังกลับญี่ปุ่นก็มุ่งงานการกุศล เธอเปิดระดมทุนช่วยเหลือแม่ม่ายที่เสียสามีไปในสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย และได้เขียนจดหมายขอบคุณหมอชาวอเมริกันที่เคยส่งพยาบาลมาช่วยงานกาชาดญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม
เคานต์ฮายาชิเกษียณจากราชการในปี 1912 เขาป่วยเป็นโรคเบาหวานและเสียชีวิตในปีถัดมา อายุได้ 63 ปี เคานต์เคสฮายาชิมีชีวิตยืนยาวกว่า เธอเสียชีวิตในปี 1942 ในระหว่างที่ญี่ปุ่นกำลังทำการรบใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุ 84 ปี