ขนมปุยฝ้าย ไทย&ญี่ปุ่น
ขนมปุยฝ้าย เป็นขนมมงคลของไทยอีกหนึ่งชนิด ด้วยลักษณะที่เด่นพิเศษคือมีสีสันสวยงาม และมีหน้าขนมที่แตกฟู จึงสื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟูของชีวิตมีขนมอีกอย่างหนึ่ง ที่มีส่วนผสมและรสชาติคล้ายกันกับขนมปุยฝ้ายมาก นั่นก็คือขนมสาลี่ แต่ขนมสาลี่หน้าขนมจะไม่แตกฟู และเนื้อสัมผัสจะแน่นกว่าปุยฝ้ายเล็กน้อย
ในญี่ปุ่น ก็มีขนมที่มีลักษณะคล้ายกับขนมปุยฝ้ายและสาลี่ของไทยเช่นกันค่ะ
นั่นก็คือ มุชิปัง(蒸しパン)
蒸し (มุชิ) แปลว่า นึ่ง
パン (ปัง) แปลว่า ขนมปัง
(ตัว パ ออกเสียงกึ่ง ๆ ระหว่าง พ.พาน กับ ป.ปลา แต่ขอเขียนโดยใช้ ป.ปลานะคะ เพราะใช้ พ.พานแล้วมันเป็นพัง ๆ ฟังดูความหมายไม่ค่อยดีเท่าไร😅)
มุชิปังมีส่วนผสมหลัก ๆ คล้ายกับขนมปุยฝ้ายและขนมสาลี่มาก คือใช้แป้งเค้ก ไข่ และน้ำตาล
แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ขนมปุยฝ้ายจะใส่น้ำมะนาว นอกจากนี้ยังนิยมแต่งสีและกลิ่นนมแมวหรือกลิ่นมะลิเพิ่มเข้าไปด้วย
ซึ่งมุชิปังไม่นิยมใส่น้ำมะนาว หรือแต่งกลิ่น แต่อาจจะแต่งสีบ้าง
มุชิปังสามารถทำได้ทั้งแบบให้หน้าขนมแตกฟูและเรียบ ๆ ก็แล้วแต่ความชอบของคนทำ
(ถ้าหน้าไม่แตกน่าจะคล้ายไปทางขนมสาลี่)
เคล็ดลับจากแม่บ้านญี่ปุ่นคือ ขนมจะแตกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยที่สำคัญคือ
1)ปริมาณส่วนผสมที่เป็นของเหลว
-ถ้าส่วนผสมข้น(ของเหลวน้อย)จะทำให้หน้าแตกได้ดีกว่าส่วนผสมเหลว
2)ความร้อนในตอนนึ่ง
-ความร้อน ถ้าอยากให้หน้าขนมแตกฟู ก่อนนึ่งน้ำต้องเดือดจัด นำขนมไปนึ่งด้วยไฟแรง จากนั้นจึงค่อยเบาไฟลง
และทั้งหมดนี้ก็คือความแตกต่างของขนมปุยฝ้าย ไทยและญี่ปุ่นค่ะ