ความยากของเกษตรผสมผสานอยู่ตรงไหน
หัวใจของการทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเองหรือเกษตรผสมผสาน
คือ การทำให้ระบบหมุนเวียนของทรัพยากรในพื้นที่เกษตรของเรามีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
ถามว่าจะต้องจัดการอย่างไร ระบบจึงจะสมดุลและเสถียร
ในทางปฏิบัตินั้นการจัดการเกษตรผสมผสานต้องใช้องค์ความรู้หลายด้านประกอบกัน ทั้งเรื่องดิน น้ำ พืช แสงแดด สายลม แมลง และอื่นๆอีกมากมาย
ทุกองค์ประกอบต้องนำมาบูรณาการกัน ความยากมันอยู่ตรงนี้ ดังนั้นการทำเกษตรเชิงเดี่ยวจึงมีความซับซ้อนน้อยกว่านั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่นการจัดการดิน จัดการน้ำ จัดการพืช เพื่อให้พืชได้รับแสงสว่างที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโต พืชบางชนิดชอบแดดจัด บางชนิดชอบแค่แดดรำไรก็พอ
พอพืชเจริญเติบโตจนเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายได้ ต้องตัดทิ้ง สภาพความสมดุลของแสงก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว
ดังนั้นเราจึงต้องมีการจัดการให้เกิดความสมดุลตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้การเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจึงจะสำเร็จ
เพื่อให้ความสมดุลไม่สะดุด และสามารถให้ผลผลิตตามที่เราต้องการและวางแผนไว้ได้ ไม่ว่าจะเพื่อการบริโภคในครอบครัวหรือการผลิตเพื่อจำหน่ายก็ตาม
ถ้าพูดถึงหลักการก็ฟังดูไม่ยากแต่พอมาปฏิบัติจริงมันก็ไม่ง่ายเลย
อ. แสวง รวยสูงเนิน ท่านเปรียบไว้ว่ามันเหมือนการผ่าตัดที่ผ่าตัดจุดหนึ่งก็ไปกระทบกับจุดอื่นใกล้เคียงเพราะระบบมันสัมพันธ์กันไปหมด
ท่านบอกว่าถ้าเราจะพลิกฝ่ามือเราก็พลิกได้เลยไม่ยาก แต่พอเราจะคิดขั้นตอนของการพลิกฝ่ามือขึ้นมาว่าต้องเอานิ้วไหนขึ้นก่อนนิ้วไหนทีหลัง ของง่ายก็เลยกลายเป็นเรื่องยุ่งยากขึ้นมาทันที
เกษตรผสมผสาน จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แล้วแต่คนจะเลือกมอง