การข่มขืนผู้ชายเป็นประเด็นที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่อยากพูดถึง ซึ่งรวมถึงใน "แอฟริกา"
การข่มขืนผู้ชายเป็นประเด็นที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่อยากพูดถึง ซึ่งรวมถึงในแอฟริกา ที่มองว่าเป็นเรื่องน่าอัปยศอดสู ขณะที่คนอีกจำนวนมากมีความเชื่อว่าผู้ชายไม่สามารถเป็นเหยื่อของการข่มขืนได้
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ๆ มานี้ เริ่มมีผู้ชายที่เคยตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนเปลี่ยนทัศนคติแบบเหมารวมที่มีต่อเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนผู้ชาย
"ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าผมถูกข่มขืน...เพราะพวกเขาไม่คิดว่าเด็กชายหรือผู้ชายจะถูกข่มขืนได้...คนส่วนใหญ่คิดว่าผมมีความสุขกับประสบการณ์นั้น"
นี่คือคำบอกเล่าของ ออนยันโก ออเทียโน ชายหนุ่มชาวเคนยาที่เคยถูกข่มขืนตอนอายุ 20 ปี และต้องเก็บงำตราบาปที่กัดกินจิตใจเอาไว้นานนับ 10 ปี ก่อนที่เขาจะตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เพื่อสร้างเครือข่ายให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ชายที่ประสบเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน รวมทั้งรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงเรื่องความรุนแรงทางเพศต่อผู้ชาย
ขณะที่ โนวาตุส มารันดู ผู้ก่อตั้งองค์กร Linda Community ที่รณรงค์ต่อต้านปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ การทารุณกรรม และการค้าเด็กในแทนซาเนีย เล่าว่า
"มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ชายที่จะยอมเปิดเผยและพูดว่า 'ตอนผมอายุเท่านี้ มีผู้ชายมาหลอกและข่มขืนผม'"
โนวาตุส ก็เป็นอีกคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก ตอนนั้นเขาไม่กล้าบอกเรื่องที่เกิดขึ้นให้คนอื่นรู้
"ในสังคมของเรา ไม่มีการให้ข้อมูลที่เพียงพอแก่เด็ก ถึงสิ่งที่ผู้ใหญ่อาจกระทำต่อพวกเขา"
เอ็นทาบิเซง รามอทวาลา นักจิตวิทยาชาวแอฟริกาใต้ ชี้ว่า วัฒนธรรมแอฟริกามีค่านิยมทางเพศที่ไม่เอื้อต่อการเยียวยาบาดแผลทางจิตใจของชายที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะทัศนคติทางเพศแบบเหมารวมที่มองว่าผู้ชายเป็นเพศที่มีความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจนั้น เป็นอุปสรรคต่อการที่ผู้ชายจะเปิดอกพูดคุยในประเด็นเหล่านี้และขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
นักจิตวิทยาผู้นี้ชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการข่มขืนผู้ชาย และยอมรับว่าความรุนแรงทางเพศต่อผู้ชายก็ถือเป็นอาชญากรรมเช่นกัน
ที่มา: BBC