เก้าอี้ดนตรีที่ไม่ต้องแย่ง แต่แบ่งกัน
“ตอนที่เอาเก้าอี้ออก เอาคนที่นั่งไม่ทันเพื่อนออกไปเรื่อยๆ จน เก้าอี้เหลือสองตัว แล้วเหลือตัวเดียว เหลือคนเดียวที่ชนะมันกำลังปลูกฝังอะไรอยู่”
‘ครูก้า’ กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ชวนคิด
“เรากำลังปลูกฝังให้เด็กแก่งแย่งชิงดีกัน ไม่แปลกที่ลุกขึ้นมาทำงานข้าราชการแล้วก็เลื่อยขาเก้าอี้กัน หรือแม้กระทั่งการทำงานในองค์กรธุรกิจเอกชน ก็เลื่อยขาเก้าอี้กัน เพื่อจะแย่งตำแหน่งที่สูงที่สุด เพราะเราถูกปลูกฝังผ่านเก้าอี้ดนตรีกันมาตั้งแต่เด็ก แต่เราก็ยังเล่นกันอยู่ ครูก็ยังจัดเก้าอี้ดนตรีให้เล่น ครูก็ยังรู้สึกสนุกแล้วก็ลืมคนที่ถูกออกไป ตบมือให้คนชนะ”
ครูก้าตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเราไม่เล่นเก้าอี้ดนตรีแบบเอาเก้าอี้ออก แต่ไม่เอาคนออก
“แล้วดูซิว่าเหลือเก้าอี้น้อยที่สุด แต่คนยังอยู่ครบ ทำได้ยังไง”
เด็กๆ ได้เล่นจริง ทำจริงแล้วที่โรงเรียนจิตตเมตต์ ครูก้าบรรยายภาพที่เห็นตรงหน้าว่า “น่ารักมากๆ”
“เขาแก้ปัญหาว่าเก้าอี้มีอยู่ไม่กี่ตัว เราอยู่บนเก้าอี้สองตัวกับคนหกคนได้ยังไง หรือเรามีเก้าอี้หกตัวแต่อยู่กันทั้งห้องได้ยังไง มันมีวิธีเชื่อมต่อร่างกายกับเก้าอี้ยังไง ทำไมเราไม่เล่นแบบนี้ ถ้าเราเล่นแบบนี้เราปลูกฝังอะไร สิ่งที่เราอยากได้นั่นแหละ คือทุกคนรักกัน ช่วยเหลือกัน”
"แบ่งปัน" กับ"แข่งขัน" มันต่างอารมณ์กันมากเลยค่ะ
เอื้อเฟื้อภาพ : โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)