บุหงาซีเระ (Bunga Sirreh)
ประวัติความเป็นมาของบุหงาซีเระ (Bunga Sirreh)
ชาวภาคใต้รุ่นก่อนๆ จะรู้จักและรู้ถึงที่มาที่ไปเป็นอย่างดี ในส่วนของบายศรีนั้น ท่านผู้รู้ส่วนใหญ่จะรับทราบกันดีว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ตามคติความเชื่อของฮินดู การนำเอาบายศรีมาใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การยกเสาเอก วางศิลาฤกษ์ งาน งานแต่ง งานสุนัต มะโยงโรงครู การทำขวัญ การแห่ขบวนต่างๆ ฯลฯ การทำขวัญต่างๆนั้นก็เพราะมาจากคติความเชื่อที่ว่าเขาพระสุเมรุเป็นทีสถิตของเทพยดาต่างๆ การนำเอาบายศรีมาตั้งเป็นเครื่องประฐานในการประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อพราหมณ์ – ฮินนดู ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลของพิธีกรรม โดยเชื่อว่าเทพยดาทั้งหลายได้อันเชิญมาในพิธีกรรมนั้นๆได้มาสถิตอยู่บนยอดบายศรี หรือเขาพระสามรุจำลองนั้นเอง เพื่อมาเป็นสักขี มาประสิทธิประสาทพร และโชคชัยให้ผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรม เช่น เป็นองค์ประธานในการประกอบศาสนกิจ และ พิธีกรรม ต่างๆ
บายศรีของชาวพุทธในภาคไต้จะมีหลายขนาดมีชั้นของบายศรีเป็นตัวกำหนด โครงสร้างของบายศรีจะใช้ต้นกล้วยหรือหยวกกล้วยเป็นแกนกลาง และใช้ใบตองประดิษฐ์เป็นกลีบบัวหรือกลีบดอกไม้ ฐานของบายศรีจะใช้พานขนาดใหญ่เป็นฐานรองรับ การนำเอาบายศรีไปใช้ในพิธีกรรมของชาวพุทธในภาคใต้พบว่ามีใช้อยู่มากหลายพิธีกรรม เช่น การทำบายศรีไปใช้ในพิธีกรรมขวัญต่างๆ ใช้ในพิธีกรรมสำคัญ เช่น โนรา โรงครู ฯลฯ
ชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ซึ่งชาวมุสลิมในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายมลายู จะใช้หยวกกล้วยหรือต้นกล้วยขนาดเล็กเป็นแกนกลาง ส่วนกลีบบัวหรือดอกไม้จะใช้ใบ”พลู”เป็นเครื่องตกแต่งในคำมลายูปัตตานีเรียกใบพลูว่า ซีเระ ส่วนคำมลายูกลางจะเรียกว่า ซือรี , ซีเระ และ ซือรีที่แปลว่า พลู นั้นจะตรงกับคำราชาศัพท์ของไทยที่เรียกพลูว่า ศรี และเรียกหมากพลูว่า พระศรี ส่วนเซียนหมากนั้นเรียกว่า พานพระศรี ซึ่งคำว่าศรีที่ใช้ในราชาศัพท์ที่แปลว่าพลูนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์สถาน 2525 ว่ามีที่มาจากคำมลายู ซึ่งก็คือคำว่า ซีเระ หรือ ซือรี นั้นเอง และคำว่าบายศรีนี้ก็เรียกกันในภาษามลายูปัตตานีว่า “บุงอซีเระ” ส่วนมลายูกลางจะออกเสียงเป็น”บุหงาซือรี” แต่ทางราชการไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไปบัญญัติคำว่าบายศรี เสียใหม่ เป็นคำลูกผสมระหว่างคำมลายูกลางกับมลายูปัตตานี โดยเรียกบายศรีของชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า”บุงอซีเระ”และได้ใช้แบบแผนมาจนทุกวันนี้ บุหงาเป็นคำมลายูกลางแปลว่าดอกหรือดอกไม้ ส่วนคำว่าซีเระเป็นคำมลายูปัตตานีแปลว่าพลูหรือใบพลู) ถ้าจะใช้คำว่าบายศรีที่เรียกเป็นภาษามลายูว่า”บุหงาซีเระ” หรือ”บุงอซีเระ ที่แปลว่าดอกไม้พลูหรือดอกไม้แห่งสิริมงคลก็ได้ เพราะคำว่าซือรือหรือซีเระนั้นเป็นคำบาลีสันสกฤต ซึ่งก็คือคำว่า”สิริ”หรือ”ศรี”ที่แปลว่ามิ่งขวัญหรือสิริมงคลนั้นเอง และคำๆนี้ชาวชวา-มลายู รับมาใช้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ฮินดู-พุทธ หรือ ฮินดู-ชวา ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาเมือครั้งโบราณกาลก่อนที่อิสลามจะเข้ามาแทนที่ในภายหลัง
- พานศรี 3 ชั้น ใช้ในพิธีสุหนัต แต่งงาน สู่ขอ ขึ้นเปลรับขวัญเด็ก
- พานศรี 5 ชั้น ใช้ในพิธีที่ต้องตั้งอยู่กับที่ เช่น บนขบวนรถแห่ เพราะมีขนาดใหญ่ ตั้งประดับขบวนรถ ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
- พานศรี 7 ชั้น ใช้ในพิธีที่จัดยิ่งใหญ่ เช่น ประเพณีแห่นก งานมหกรรม
- พานศรี 9 ชั้น จัดทำขึ้นเพื่อเทิดเกียรติกษัตริย์
อ้างอิงจาก: ชมรมเครือญาติเจ้านายและเจ้าเมืองปัตตานี 7 หัวเมือง