ทำความรู้จักกับ ‘นก’ ที่ปรากฎอยู่ในบทเพลงต่าง ๆ บนท้องถนนแห่งเสียงดนตรี
การร้องรำทำเพลง ถือเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่มีบทบาทในการบันทึกเรื่องราวและความรู้สึก ซึ่งถูกถ่ายทอดมาจากผู้แต่ง มีหน้าที่สำคัญในการขับกล่อมบรรเลง เพื่อสร้างสุนทรียภาพความบันเทิงให้กับผู้ฟัง
หลายต่อหลายเพลงบนถนนแห่งการขับร้องของเมืองไทย ‘สัตว์ป่า’ ถือเป็นองคาพยพสำคัญของเนื้อหา และถูกหยิบมาพูดถึงในเนื้อเพลงเพื่อสร้างอรรถรสในการสดับ โดยเฉพาะกับ ‘นก’ ซึ่งเป็นสัตว์ปีกอันมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ที่สามารถโลดแล่นด้วยการใช้ปีกโบยบินบนท้องนภา
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอยกเรื่องราวของนกชนิดต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงผ่าน 5 บทเพลง เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นบริบทของสัตว์ป่าที่ถูกผนวกเข้ามาในงานศิลปะ กลายเป็นบทขับร้องและท่วงทำนองอมตะที่ไพเราะติดหู
‘บินหลา’ นกน้อยผู้ขับกล่อมพงไพรด้วยเสียงเพลง
“บินหลาบินมา บินเรื่อยมาแล่นลม
ชื่นชมธรรมชาติ อันที่งามสะอาดตา”
นี่เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของบทเพลงบินหลา ที่ถูกขับร้องและบรรเลงโดยวงแฮมเมอร์ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่หอบกลิ่นอายจากทิศทักษิณมานำเสนอผ่านเสียงดนตรี เพลงบินหลาถือเป็นเพลงยอดฮิตติดหูผู้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนปลายด้ามขวานอย่างชาวปักษ์ใต้
หากพูดถึงสัตว์ป่าที่มีความโดดเด่นในเรื่องเสียงอันไพเราะ คงต้องยกให้ ‘นก’ เป็นราชา – ราชินีแห่งเสียงเพลงของผืนป่า ผู้คอยขับร้องผลิตทำนองเสียงหวานแว่วประดับพงไพร ‘บินหลา’ คงเป็นสัตว์ปีกอีกหนึ่งชนิดที่ต้องถูกพูดถึง
บินหลา หรือกางเขนดง (White – rumped Shama) เป็นนกที่มีถิ่นอาศัยอยู่ตาม ป่าดิบ ป่าโปร่ง ป่าไผ่ และชายป่า บริเวณที่ราบถึงความสูง 1,525 เมตร อยู่ในกลุ่มนกจับแมลงและนกเขน Muscicapinae ซึ่งเป็นนกขนาดเล็ก หัวและตาค่อนข้างโต ปากแบน กว้างและงุ้มตรงปลาย มีขนหนวดชัดเจน ขาสั้น ตีนเล็กและบอบบาง บินโฉบไปมาโฉบมาได้อย่างคล่องแคล่ว
ตัวผู้จะมีความโดดเด่นที่ หัว อก และลำตัวด้านบนจะมีสีดำเป็นมัน ตัดกับลำตัวด้านล่างที่เป็นสีน้ำตาลแดงแกมส้มเข้มและตะโพกขาว หางยาวขอบหางคู่นอกมีสีขาว สำหรับตัวเมียจะมีลักษณะที่คล้ายตัวผู้ แต่หางสั้นกว่า หัว อก และลำตัวด้านบนแกมน้ำตาล ลำตัวด้านล่างส้มแกมน้ำตาลมากกว่า
หากินอยู่ตามต้นไม้ที่รกทึบ โดยเหยื่อของมันมักจะเป็นพวกหนอน แมลง และสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก ฤดูการผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยจะสร้างรังอยู่ตามโพรงไม้ซอกหิน มีการวางไข่ครั้งละ 3 – 5 ฟอง ใช้ระยะเวลาในการกกไข่ 10 วัน
ที่มาของการเรียกนกกางเขนดงว่า ‘บินหลา’ มาจากคำเรียกตามภาษาทองแดงจากแดนปักษ์ใต้ ซึ่งนอกจากรูปลักษณ์ที่น่ารักน่าเอ็นดูของเจ้าวิหคน้อยเเล้ว นกบินหลายังถือเป็นนกที่มีเสียงอันไพเราะ โดยจะมีเสียงที่แหลมสูง มีนิสัยที่ค่อนข้างขี้อาย มักส่งเสียงร้องในเวลาเช้าตรู่และในช่วงพลบค่ำ
นกกระปูดตาแดงน้ำแห้งก็ตาย
“น้ำลง น้ำลง เมื่อเดือนยี่ น้ำลงปีนี้อกของพี่กลัดหนอง
พอน้ำลงนกกระปูดมันร้อง พอน้ำลงนกกระปูดมันร้อง
น้ำแห้งขอดถึงก้นคลอง มองเห็นปลาติดตม”
หากใครเป็นแฟนคลับละครบนจอแก้ว คงไม่แคล้วที่จะเคยรับชม ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ ละครอมตะที่ถูกนำมาแสดงใหม่ ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่ง ‘น้ำลงนกร้อง’ คงเป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่ติดหู ด้วยเนื้อหาที่ดูน่าสนใจเมื่อ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ปรมาจารย์นักแต่งเพลงไทย ที่ได้นำธรรมชาติของนกกระปูด มาร้อยเรียงกับเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว
นกกระปูดใหญ่ (Greater Coucal) เป็นนกที่ปรับตัวเก่ง มักพบตามทุ่งนา ทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง หรือสวนดอกไม้ บริเวณที่ราบถึงความสูง 1,525 เมตร อยู่ในกลุ่มนกคัดคู Cuculidae ซึ่งเป็นนกขนาดเล็กถึงค่อนข้างใหญ่ มักมีลายขีดหรือบั้งที่ลำตัวด้านล่างหรือหลัง หากินตามพุ่มไม้ บางชนิดหากินบนพื้นดิน
ลักษณะของนกกระปูดใหญ่ จะมีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น หัว คอ ลำตัวด้านล่าง และหางดำเหลือบม่วง หลังและปีกเป็นสีน้ำตาลแดง ในวัยอ่อนหลังและปีกมีลายขวางสีเข้ม หัวและลำตัวมีจุดขาว มีเสียงร้องดังก้อง ‘ปู๊ด ปู๊ด ปู๊ด’
มักหลบซ่อนตัวอยู่ตามดงพืชใกล้แหล่งน้ำ กินแมลง หอยทาง และสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก รวมไปถึงผลไม้สุกที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นเป็นอาหาร ผสมพันธุ์ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยจะมีการวางไข่ครั้งละ 3 ถึง 5 ฟอง ในรังรูปโดม
‘พิราบ’นกน้อยแห่งเสรีภาพ
“ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน ติดปีกบินไปให้ไกลไกลแสนไกล
จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี”
‘พิราบ’ สัตว์ปีกที่มีความหมายในทางสากลว่าเป็นตัวแทนแห่ง ‘สันติภาพ’ และ ‘การสื่อสาร’ แต่สำหรับคนหนุ่มสาวในยุคเดือนตุลา คงจะจดจำภาพของนกพิราบที่มีความหมายทางการเมืองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน จากบทเพลงที่ถูกขับร้องกันในหมู่นิสิตนักศึกษา อย่างเพลง ‘เพื่อมวลชน’ ที่ประพันธ์และร้องโดยวงกรรมาชน
นกพิราบป่า (Rock Pigeon) เป็นนกที่สามารถพบเห็นได้ตามบ้านเรือน แหล่งชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม อยู่ในกลุ่ม Columbidae เป็นนกขนาดเล็กถึงใหญ่ หากินบนต้นไม้และพื้นดิน ลำตัวอวบ หัวเล็ก รูจมูกอยู่บนแผ่นเนื้อโคนปาก กินเมล็ดพืชและลูกไม้ เลี้ยงลูกอ่อนด้วยนมที่ผลิตจากกระเพาะพัก
ลักษณะของนกพิราบป่า จะมีหัวสีเทาเข้ม หลังและอกเข้มกว่า ปีกสีเทาอ่อน แถบปีกดำ ปลายหางดำ ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียคอเหลือบเขียวมากกว่า ปัจจุบันมีการผสมและคัดเลือกสายพันธ์ุจนมีสีขนที่หลากหลาย เช่นสีน้ำตาล สีขาว เป็นต้น มีเสียงร้องแหบ ‘อุอุครู่’
ตามธรรมชาติแล้วมักจะชอบทำรังตามซอกผาหรือโขดหินต่าง ๆ ไม่ชอบสร้างรังบนต้นไม้ มีอายุเจริญพันธุ์พร้อมผสมพันธุ์ ประมาณ 6 – 8 เดือน มีคู่ครองตัวเดียว ไม่จับคู่หลายตัว และไม่ยอมจับคู่แม้ว่าคู่จะตายไปแล้วก็ตาม เพศเมียออกไข่ได้ทั้งปี ครั้งละ 2 – 3 ฟอง ทั้งเพศผู้ และเพศเมียจะช่วยกันดูแลไข่หรือลูกนก
ปัจจุบันเวลาอาจนำพาให้ยุคเดือนตุลาให้กลายเป็นวันวานแห่งอดีต แต่บทเพลงเพื่อมวลชนและนกพิราบในเนื้อเพลง ก็ยังคงถูกขับร้องและคงความนิยมในหมู่ของผู้แสวงหาเสรีภาพเหมือนเดิม
‘นกเขาไฟ’ ขวัญใจชาวดอย
“ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟ พาใจเรามา”
นักดนตรีเพื่อชีวิตหลายคนได้กลายเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้ฟังหลังวันป่าแตก พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หรือ ‘กวีศรีชาวไร่’ ก็ เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ได้รับความนิยมหลังทิ้งกระบอกปืนเดินทางสู่เมือง ซึ่งเพลง ‘นกเขาไฟ’ เป็นบทเพลงที่เล่าถึงสิ่งที่เขาได้เห็นจากวิถีชิวิตของชาติพันธุ์ในป่าใหญ่
นกเขาไฟ (Red Collared Dove) สามารถพบได้ตามพื้นที่เกษตรกรรม สวน แหล่งชุมชน ชายป่า หรือพื้นที่เปิดโล่งต่าง ๆ ที่ราบถึงความสูง 1,200 เมตร มักพบรวมกันเป็นฝูงใหญ่กว่านกเขาชนิดอื่น ๆ อยู่ในกลุ่ม Columbidae เฉกเช่นเดียวกับนกพิราบป่า
ลักษณะของนกเขาไฟ ตัวผู้จะมีหัวสีเทา ท้ายทอยด้านล่างจะมีแถบดำคาด ลำตัวสีน้ำตาลแดงแกมม่วง ปีกและหลังสีเข้มกว่าท้อง ขนปีกบินเทาดำ ตะโพกเทา ใต้หางขาว ขนหางคู่นอกขาวประมาณครึ่งหนึ่ง ตัวเมียมีสีน้ำตาล มีเสียงร้อง ‘ครูด – อู่ – ครู่’
นกเขาไฟมักจะเริ่มผสมพันธุ์ในเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม และวางไข่ ครั้งละ 2 – 3 ฟอง มักจะกินเมล็ดข้าว เมล็ดพืช และแมลงเป็นอาหาร
นกเขาไฟนับเป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่ ยกเอาวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มาเล่าผนวกกับลักษณะของสัตว์ป่าที่เข้ามาเป็นหนึ่งในเรื่องราวของบทเพลง อันแสดงให้เห็นถึงความช่างสังเกตและจินตนาการของผู้ประพันธ์เนื้อหา
‘สาริกา’ ในเพลงแหล่
“มัทรีเอ๋ยนกสาริกา ส่งเสียงจ้าช่างน่าฟัง
สาริกาที่นอกวัง มันส่งเสียงดังวังเวงไพร”
หากได้ไปงานบุญหรืองานบวช เพลงแหล่คงเป็นอีกท่วงทำนองที่ติดหูของผู้ร่วมงานไม่ว่าจะยุคใดหรือสมัยใด สำหรับเพลง ‘สี่กษัตริย์เดินดง’ ที่ถูกขับร้องโดย ทศพล หิมพานต์ ถือเป็นอีกหนึ่งเพลงยอดฮิตติดโบสถ์ อันมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ ‘เวสสันดรชาดก’ และ ‘นกสาริกา’ ที่ได้ปรากฎตัวขึ้นในตอนหนึ่งของเนื้อเพลง
นกสาริกาดง หรือ นกขุนแผน (Red – billed Blue Magpie) มีถิ่นอาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ป่าไผ่ ที่ราบสูง 1,525 เมตร อยู่ในกลุ่ม Corvidae นกขนาดปานกลางถึงใหญ่ ปากใหญ่แข็งแรง ขาและเล็บแข็งแรง หางยาว รูจมูกมีขนปกคลุม ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ร้องเสียงดัง
ลักษณะของนกสาริกาดง ปากจะมีสีแดงสด หัวถึงอกดำ ท้ายทอยถึงหลังตอนบนเป็นแถบขาว ลำตัวด้านบนและปีกสีฟ้าคราม ลำตัวด้านล่างขาว ขาและตีนแดง หางฟ้า ปลายขนหางและปีกขลิบดำและขาว นกวัยอ่อนสีซีดกว่า ปากดำหางสั้น เสียงร้อง ‘แค้ก – แค้ก’ แหบลากเสียงยาว มักส่งเสียงร้องดังเซ็งแซ่กันทั้งฝูง
บางเวลามันอาจลงมาหากินตามพื้นดิน ซอกก้อนหิน ซอกไม้ผุ ๆ ฤดูผสมพันธุ์ของนกสาริกาดงคือช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จะทำรังโดยนำกิ่งไม้เล็ก ๆ มาขัดสานกันเป็นแอ่งตรงกลาง และรองพื้นด้วยรากไม้หรือใบไม้ที่มันพอจะหาได้ในบริเวณนั้น นกสาริกาดงตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 3 – 6 ฟอง อยู่สูงจากพื้น 6 – 8 เมตร
การปรากฎตัวขึ้นของสัตว์ป่าในเนื้อเพลงต่าง ๆ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความช่างสังเกตของมนุษย์ รวมถึงความเข้าใจหยิบยกธรรมชาติและศาสตร์แห่งความคิดเข้ามาผนวกกัน จนเกิดเป็นผลงานที่สร้างความบันเทิงและขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกับถนนแห่งเสียงเพลง
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบ
คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชินูปภัมถ์
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ อายุวัต เจียรวัฒนกนก
อ้างอิงจาก: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร