“คาวเลือดที่ลำขาแข้ง” ประสบการณ์ในอีกแง่มุมหนึ่งของ บุหลัน รันตี
“ภาพห้วยขาแข้งในสมัยนั้นสวยเหลือเกิน อยากเห็นนกยูง อยากเห็นกระทิง”
คุณบุหลัน รันตี นักเขียน ได้พูดถึงภาพของห้วยขาแข้งที่ปรากฏในหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาเคยอ่าน ภาพนั้นเป็นที่มาที่ไปของการเดินทางไปห้วยขาแข้งครั้งแรกของเขา บนเวที Talk “คาวเลือดที่ลำขาแข้ง” ในงานรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร หอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในอีกแง่มุมหนึ่งของความเลวร้ายต่อการล่าสัตว์ป่าในห้วยขาแข้งช่วงปี 2533
“ผมเดินทางไปถึงห้วยขาแข้งประมาณ 10 โมง ไม่แน่ใจว่าตรงนั้นเป็นที่ทำการเขตหรือหน่วยพิทักษ์ป่าเฉย ๆ แต่เขาบอกว่าหัวหน้าเขตที่นี่ชื่อสืบ นาคะเสถียร ตอนนั้นผมก็ไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร ก็เดินเข้าไปขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ว่าขอเข้าไปเดินป่า แต่ก็ถูกปฏิเสธไปเนื่องจากต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าเขตก่อน”
คุณบุหลันเดินทางไปห้วยขาแข้งประมาณช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าอากาศช่วงเดือนนั้นร้อนมากขนาดไหน การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามที่เขาคาดหวังมากนัก หลังจากที่เขาถูกปฏิเสธการเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์ฯ เขาจึงจำเป็นต้องออกมาตั้งแคมป์บริเวณนอกเขต ที่ ๆ เขาเลือกพักติดกับน้ำตกแห่งหนึ่ง ในขณะที่เขาเดินตรงไปที่น้ำตกก็พบว่าตัวเองเริ่มแสบตา มีหมอกควันลอยมาแต่ไม่รู้ว่าเกิดเหตุไฟไหม้ป่าจากจุดไหน จนรุ่งเช้าของอีกวันก็ยังมีหมอกควันเหล่านั้นลอยฟุ้งอยู่
“เดินไปแค่ร้อยเมตรนี่ก็ร้อนมาก แค่ 7 กิโลเมตรมันทรมานมาก ระหว่างทางก็ผ่านจุดที่เกิดไฟไหม้ก็ได้ยินเสียงเปรี้ยงปร้างจากการเผาไหม้ของต้นไผ่ เพราะบริเวณนั้นมีกอไผ่เยอะ มันก็ระเบิดเสียงดังตลอดเวลา
ป่าห้วยขาแข้งในช่วงนั้นมันดูไม่ได้เลย มันเป็นป่าที่โทรมมาก เดินไปมีแต่ไฟไหม้กับเสียงระเบิดจากกอไผ่ แล้วก็เริ่มสงสัยว่านี่ไม่ใช่เสียงไฟไหม้แล้วมั้ง เพราะมันน่าจะเป็นเสียงปืนมากกว่า เดินไปสักพักก็เห็นอะไรบางอย่างกอง ๆ อยู่ริมห้วย ก็เลยเดินเข้าไปดูปรากฏว่าเป็นซากกวางที่ตายแล้ว ถูกแล่เนื้อออก และขาก็ถูกตัดทิ้ง”
วันที่ 3 ของการเดินทางในครั้งนั้นเขาเล่าว่า “ไม่น่าเชื่อและไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้ ผมเจอคนสะพายปืนทั้งลูกซองและไรเฟิลแต่ไม่ทราบขนาด มีคนจุดไฟเป็นจุด ๆ ลักษณะคล้ายการจุดไฟเพื่อที่จะให้สัตว์มันออกมาแล้วก็ยิง และชำแหละสัตว์ป่าเหล่านั้น ผมไม่เชื่อว่านี่ป่าห้วยขาแข้งที่ผมดูในหนังสือสวยงาม มีภาพสัตว์ที่ยืนอยู่ริมห้วย มีเสือเล่นน้ำ มีฝูงนากไล่ไปไล่มา แต่ที่ผมมาเห็นเนี่ยมันไม่เหมือนในหนังสือเลย มันเป็นภาพป่าแห้งแล้งเหมือนกับทะเลทรายที่ไม่น่าดูเลย”
ลักษณะของคนที่เขาพบมีหลายกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่พยายามจุดไฟเพื่อที่จะบังคับให้สัตว์ป่าที่แอบตามริมห้วย เมื่อเกิดไฟไหม้พวกสัตว์ป่าก็จะเตลิดออกมา กลุ่มที่เป็นนักล่าก็จะรอดักยิงอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการล่าของพวกเขา สัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่วิ่งออกมาจะเป็นกวาง ภายในครึ่งวันเขาเจอซากกวางที่นอนจมกองเลือดประมาณ 30 ซาก ซากกวางที่เจอถูกชำแหละเนื้อเกลี้ยง นั่นแสดงว่าในกระบวนการล่านี้ต้องมีฝ่ายชำแหละและจัดส่งร่วมด้วย เขาได้แต่ตั้งคำถามว่า “ทำไมการล่าในห้วยขาแข้งมันรุนแรงขนาดนี้”
“ปี 2533 ผมก็สงสัยว่าเจ้าหน้าที่ไปไหนหมด และเริ่มไม่มีความสุขกับการเดินทางครั้งนี้ จริง ๆ แล้วเหมือนคุณสืบต้องทำงานหนักมากเพื่อจะปราบปรามปัญหาพวกนี้ อีกวันหนึ่งผมก็ลงไปถึงห้วยขาแข้ง มันไม่ใช่ภาพที่เราเห็นเหมือนในหนังสือว่ามันจะต้องสวยงาม มันแห้งแล้งจนไม่มีอะไรเลย มันทรุดโทรมมาก มันไม่มีเสน่ห์เลย มันถูกไฟเผาซ้ำซ้อนจนไม่มีอะไรเหลือเลย”
ประสบการณ์เดินป่าในปี 2533 ก่อนที่คุณสืบจะเสียชีวิตของคุณบุหลันในยุคนั้นมันไม่มีอะไรเลย มันแห้งแล้ง มันร้อน สัตว์โดนล่ามากมายมหาศาล เสียงปืนที่ได้ยินมันแยกไม่ได้ว่าอันไหนเสียงปืนอันไหนเสียงไฟไหม้ป่า คนแบกปืนในนั้นแบกได้อย่างเสรีเหมือนหลงอยู่ในยุคคาวบอยครองเมือง
“ยุคนั้นเรายังเด็กอยู่ ไม่ค่อยประสีประสาเรื่องงานอนุรักษ์ มันเพิ่งจะมากระพือหลังจากที่คุณสืบเสียชีวิต หลังจากเสียงปืนสงบลงในวันนั้นการอนุรักษ์ก็เริ่มเกิดขึ้นมา สมัยก่อนไม่มีใครพูดถึงเรื่องงานอนุรักษ์ ชาวบ้านมีปืน ใครจะล่าอะไรก็เป็นเรื่องปกติ
ในเช้าที่เราเห็นข่าวการเสียชีวิตของคุณสืบ คือมันช้อค สภาพที่เราไปเห็นเรารับรู้ถึงการทำงานของคุณสืบ หลังจากที่เรากลับมาแล้วการล่ามันรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณสืบทำงานหนักมากเพื่อจะปราบปรามทำลายแก๊งล่าสัตว์ในห้วยขาแข้ง แต่สภาพที่ผมเข้าไปเห็นแล้วมันไม่มีทางหรอกมันมีแต่ไรเฟิล
คุณสืบใช้วิธีฆ่าตัวตายเพื่อจะบอกให้คนได้รับรู้ว่าสัตว์ป่าต้องการคนดูแล เพราะฉะนั้นเขาจะปล่อยต่อไปอีกไม่ได้ รัฐต้องดูแล กำลังของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอย่างเดียวเขาดูแลไม่ไหวหรอก ปืนก็ไม่พอ อาวุธก็ไม่พอ สมัยนั้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขามีแต่ปืนลูกซอง พูดตรง ๆ เขาไม่ใช้กันหรอกแบบนี้ สภาพนั้นเอาเป้าใหญ่ ๆ มาวางไว้ 15 เมตร ผมท้าเลยปืนเจ้าหน้าที่ในยุคนั้นยิงแค่นี้ไม่มีทางถูกหรอก พวกล่าสัตว์มันไม่กลัวหรอก”
“เสียงของผมดังไม่พอ เสียงปืนจึงดังแทน”
29 ปีมาแล้ว เสียงปืนนัดสุดท้ายที่ดังจากคุณสืบ นาคะเสถียร ในค่ำวันที่ 1 กันยายน ปี 2533 ที่ดังขึ้นในป่าห้วยขาแข้ง ชีวิตหนึ่งที่จากไปนำมาสู่การปกป้องอีกหลายชีวิตในผืนป่าไทย
หนึ่งแสงเทียนที่ดับลง กลับเป็นประกายไฟในใจหลาย ๆ คน
เราไม่เคยลืมสืบ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจาก Talk “คาวเลือดที่ลำขาแข้ง” โดยคุณบุหลัน รันตี นักเขียน คลิ้กที่นี่เพื่อดูย้อนหลัง
เรียบเรียง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อ้างอิงจาก: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร