เหนียวต้ม ขนมแห่งศรัทธาของชาวใต้
หลายคนคงเคยเห็น "เหนียวต้ม" เป็นชื่อเรียกทางภาคใต้ หรือชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ "ข้าวต้มลูกโยน" ที่มีวางขายกันตามท้องตลาดสดกันบ้างแล้ว แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยเลย ที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติของเหนียวต้มซึ่งเหนียวต้มเป็นอีกหนึ่งขนมสำคัญด้วยแรงแห่งศรัทธา ที่พี่น้องชาวภาคใต้แต่ละครัวเรือน นิยมทำกันเพื่อใส่บาตรในวันออกพรรษา อีกทั้งทำตามความเชื่อที่ว่า เป็นการทำถวายแด่พระพุทธเจ้า คราวที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และชาวบ้านทางใต้นิยมนำไปวางในเรือพระ ในเทศกาลประเพณีแข่งโพนชักพระ ช่วงเดือนสิบเอ็ดของทางภาคใต้อีกด้วย
"เหนียวต้ม" เป็นขนมที่ทำจากข้าวสารเหนียวเอามาผัดกับหัวกะทิ น้ำตาล และเกลือ บางครั้งอาจจะใส่ถั่วด้วย เพื่อเพิ่มรสชาติให้ขนมนั้นอร่อยน่ากินมากขึ้น โดยนำมาห่อกับใบกะพ้อให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนำไปนึ่งด้วยซึ้งหรือต้ม แล้วแต่ความนิยมของครัวเรือนนั้นๆ ซึ่งวันนี้ทางผู้เขียนจะมาทำขนมเหนียวต้มของทางใต้ ให้ผู้อ่านได้สนุกและจินตนาการไปพร้อมกับผู้เขียนนะคะ
เรามารู้จักต้นกะพ้อกันสักนิด วัสดุที่นำมาห่อเหนียวต้ม ต้นกะพ้อจะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ตามธรรมชาติชอบขึ้นอยู่ตามป่าพรุ หรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเล็กน้อย ใบจะมีเส้นขนานมากมายยึดเอาไว้ ลักษณะคล้ายๆพัดเมื่อคลี่ใบออกมาดู บริเวณปลายใบจะแหลมและมีขน บริเวณก้านใบหรือเรียกอีกอย่างว่าก้านทางกะพ้อ จะคล้ายๆก้านทางตาลโตนด โดยมีหนามแหลมเล็กๆขึ้นบริเวณก้านทางทั้งสองข้าง และส่วนที่จะเลือกนำมาห่อเหนียวต้ม คือยอดใบกะพ้อ นั่นเอง
วัตถุดิบหลัก ส่วนประกอบในการทำ ได้แก่
1. ยอดใบกะพ้อ
2. ข้าวสารเหนียว จะใช้เป็นข้าวสารเหนียวดำ หรือข้าวสารเหนียวขาวก็ได้ 1 กก.
3. หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง
4. น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
5. เกลือ 1.5 ช้อนชา
6. ถั่วดำ หรือถั่วขาว 1/2 ถ้วยตวง (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
วิธีทำ ก็ไม่ยากอย่างที่คิดเลยค่ะ ลองมาทำไปพร้อมๆกันน้า
1. ตัดส่วนปลายของใบกะพ้อทิ้ง และคลี่ใบกะพ้อออกแล้วพับม้วนกลับด้านตามความยาวของใบ เพื่อให้ง่ายตอนใช้ห่อขนม คลี่พับเสร็จพักรอไว้
2. ล้างข้าวสารเหนียวสัก 7 น้ำทิ้ง เพื่อให้สารข้าวเหนียวสวยเมล็ดสีใส ช่วยลดกลิ่นสาบของข้าวสารเหนียว และลดอัตราการบูดของขนมเพื่อให้เก็บได้นานขึ้น ถั่วก็ให้ล้างวิธีการเช่นเดียวกันกับข้าวสารเหนียว
3. นำกะทิตั้งไฟ ใช้ไฟกลาง เคี่ยวจนกะทิแตกมัน ใส่น้ำตาล เกลือ ลงไปเคี่ยวจนส่วนผสมละลายเข้ากัน
4. ใส่ข้าวสารเหนียวและถั่วที่เตรียมไว้ ผัดจนกว่าข้าวสารเหนียวและถั่วเริ่มสุกแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ ชิมรสชาติให้รสกลมกล่อม หวาน มัน เค็ม ขั้นตอนนี้ต้องห้ามหยุดผัด เพราะจะทำให้ข้าวเหนียวและถั่วของเราไหม้ติดก้นหม้อ ขนมจะเสียรสชาตินะคะ
เมื่อผัดเสร็จก็ยกลงจากเตา เทข้าวเหนียวใส่ถาดพักไว้ รอจนอุ่น
5. นำใบกะพ้อที่เตรียมไว้ จับส่วนด้านปลายใบพับทำเป็นรูปทรงกรวย ยัดข้าวเหนียวใส่ลงไปในกรวยใบกะพ้อ และห่อให้เป็นรูปสามเหลี่ยมมีหาง ตรงหางให้ผูกเป็นปมป้องกันน้ำเข้าเนื้อขนมตอนนำไปต้ม หรือนึ่ง เมื่อเสร็จให้ตัดหางส่วนที่เกินทิ้ง
6. นำเหนียวต้มที่ห่อไปต้ม หรือนึ่งตามสะดวก เพื่อเพิ่มความหอมให้ใส่ใบเตยลงไปในหม้อต้มน้ำสัก 2-3 ใบ ใช้เวลาในการนึ่งหรือต้มประมาณ 30 นาที
เสร็จแล้วค่ะสาวๆ เหนียวต้มของภาคใต้ หน้าตาน่ากินมากๆเลยใช่มั้ยล่ะคะ รสชาติจะมีรสหวานมันจากกะทิสดๆ เค็มนิดๆ และกรุบๆจากถั่ว ได้กลิ่นหอมของใบเตยแทรกเข้ามาเวลาเคี้ยว หนึบหนับจากข้าวเหนียว จะกินเล่น กินคู่กับกาแฟ หรือ กินคู่กันกับแกง...ซึ่งชาวมุสลิมทางใต้นิยม ก็อร่อยไม่แพ้กันเลยค่ะ
ที่แน่ๆตั้งแต่ผู้เขียนเติบโตมา และสัมผัสกลิ่นไอประเพณีวัฒนธรรมทางใต้ "เหนียวต้ม" เป็นอีกหนึ่งขนมที่ชาวใต้ให้ความสำคัญ และทำด้วยใจแห่งแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อใช้ในการทำบุญและใช้เป็นส่วนประกอบเรือพระในประเพณีแข่งโพนชักพระมาอย่างช้านาน ผู้เขียนจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามนี้เอาไว้