ทุ่งกุลาร้องไห้
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งกว้างใหญ่ของภาคอีสาน มีอาณาเขตครอบคลุมถึง 5 จังหวัด คือ ในแนวทิศเหนือนั้นครอบคลุมอำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอโพนทราย ของจังหวัดร้อยเอ็ด
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งกว้างใหญ่ของภาคอีสาน มีพื้นที่กว้างประมาณ 2 ล้านไร่ และมีอาณาเขตครอบคลุมถึง 5 จังหวัด คือ จังหวัดสุรินทร์ ในเขตอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดยโสธรในเขตอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดมหาสารคามในเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดบุรีรัมย์ ในเขตอำเภอพุทไธสงและจังหวัดร้อยเอ็ด ในเขตอำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และ อำเภอโพนทราย ซึ่งกินเนื้อที่ทุ่งกุลาร้องไห้มากที่สุดประมาณ 3 ใน 5 อาจกล่าวได้ว่า
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ราบที่มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ส่วนพื้นที่ที่ต่อเนื่องกันมากที่สุด กว้างยาวที่สุดนั้น เริ่มตั้งแต่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคามเรื่อยขึ้นไปทางตะวันออก ส่วนกว้างที่สุดอยู่ในท้องที่อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย มีเนื้อที่ประมาณ 847,000 ไร่ สาเหตุที่ทุ่งกว้างแห่งนี้ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้นั้นก็ด้วยมีเรื่องเล่ากันว่า พวกกุลาซึ่งเป็นพวกที่เดินทางค้าขาย ระหว่างเมืองต่าง ๆ ในสมัยโบราณได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้ คือมีความเข้มแข็ง อดทนเป็นเยี่ยม
แต่เมื่อพวกกุลาเดินทางมาถึงทุ่งนี้ได้รับความทุกข์ยากเป็นอันมากจนถึงกับร้องไห้เพราะ ตลอดทุ่งนี้ไม่มีน้ำหรือต้นไม้ใหญ่เลยฤดูแล้งแผ่นดินก็แห้งแตกเป็นระแหง ปัจจุบันทุ่งกว้างใหญ่นี้ได้รับการพัฒนาจากส่วนราชการ และหน่วยงานต่าง โดยเป็นที่ทำการของศูนย์พัฒนาที่ดินทุ่งกุลาร้องไห้ กรมพัฒนาที่ดิน บางแห่งก็ทำการเกษตรกรรม จนกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน หรือบางแห่งก็ใช้ เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ซึ่งนับแต่จะมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ ศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ห่างจากที่ว่าการอำเภอสุวรรณภูมิ 6 กิโลเมตร เลยกู่พระโกนาไปเล็กน้อย
ทุ่งกุลา นิยามของความแห้งแล้งกันดาร แผ่นดินแตกระแหง ผู้คนเผชิญกับความยากจนข้นแค้น ต่อมากรมพัฒนาที่ดินได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจและพัฒนาที่ดินในปี พ.ศ. 2524 – 2527 พร้อมทั้งสร้างถนน คลองส่งน้ำและอ่างเก็บน้ำ ทำการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรได้ทำกินอย่างทั่วถึง สามารถพลิกฟื้นให้ชุ่มชื้นเขียวชอุ่ม และพบว่าดินทุ่งกุลามีคุณสมบัติเฉพาะ ที่ผลิตข้าวให้หอมเป็นพิเศษโดยไม่มีที่ไหนเหมือน
และในต้นปี พ.ศ. 2530 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ขณะนั้น) ได้น้อมนำกระแสพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาช่วยเหลือราษฎรภาคอีสานใน “โครงการอีสานเขียว” ทำให้ทุ่งกุลาได้รับการพัฒนาในครั้งนั้นด้วย
เมื่อทุ่งกุลาได้รับการพัฒนาจากภาครัฐ นิยามที่บอกว่าแห้งแล้งกันดารได้เปลี่ยนมาเป็น “ทุ่งกุลาไม่ร้องไห้แล้ว” อีกครั้ง ในยุคมั่งคั่งข้าวหอม เพราะทุ่งกุลาเป็นแหล่งผลิตข้าวที่โลกรู้จักในนาม “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” (Khao Hom Mali Thung Kula Rong Hai) ที่สร้างชื่อเสียงและเป็นสินค้าออกที่สำคัญให้กับจังหวัดในเขตทุ่งกุลา คือ จังหวัดร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, สุรินทร์, ยโสธร, และศรีสะเกษ