ชีวิตติดแกลม แต่เงินในบัญชีติดลบ ชีวิตลูกคุณหนู เน้นจ่าย ไม่เน้นออม
คำว่า ‘แกลม’ มาจากคำคุณศัพท์ภาษาอังกฤษ Glamorous แปลว่า มีเสน่ห์ น่าเร้าใจ น่าตื่นเต้น และน่าดึงดูดใจในหนทางที่แสนพิเศษ คำว่า ‘glamorous’ มาจากคำภาษาสก็อตติช ‘gramarye’ หมายถึง เวทมนตร์ ความเคลิบเคลิ้มหลงใหล คาถา
สำหรับบริบทแบบไทย ๆ ‘ติดแกลม’ หรือที่บางคนสะกดว่า ‘ติดแกรม’ ถูกใช้ หรือ ถูกเน้นไปในทางที่หมายถึง ‘ติดหรู ติดแพง ติดหล่อ หรือ ติดสวยแบบฟีลลูกคุณหนู’
จากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจมากถึง 54% มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และ 50% ในกลุ่มนี้มีเงินเก็บน้อยกว่า 6 เดือน แต่พอพูดถึงเรื่องความถี่ในการซื้อสินค้าหรูของชาวลักซ์ พวกเขายอมควักเงินซื้อของมากถึง 10 – 30% ของรายได้ต่อเดือน
ผลวิจัยของ CMMU (วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล) เกี่ยวกับอินไซต์คนไทยหัวใจลักซ์(ลักชัวรี่) พูดถึง พฤติกรรมคนติดหรู 5 ประเภท
กลุ่มคนไทยที่ทำการสำรวจส่วนใหญ่ ประมาณ 40% มีความเชื่อว่า แม้ของจะแพง หรือราคาสูง แต่ของมันต้องมี CMMU เรียกกลุ่มที่1นี้ว่า ‘หรูปริ่มน้ำ’ คือ ใช้ชีวิตติดแกรม ซื้อของหรูหราเป็นชีวิตจิตใจ ของที่ซื้อต้องอยู่ในกระแส เป็นกลุ่มที่รายได้ในการใช้จ่าย แต่แทบไม่มีเงินออม หรือมีก็น้อยมาก ๆ เพราะนิสัยในการใช้จ่าย ‘ควักแบบไม่ยั้งคิด’
กลุ่มที่ 2‘หรูเขียม’ ประมาณ 28% เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูแบบจำกัด มีรายได้เช่นกัน อาจมีเงินออมไม่สูงมาก แต่อย่างน้อย ๆ ก็มีการวางแผนในการซื้อ รู้จักอดทนเก็บเงินก่อนที่จะซื้อสินค้าหรู เพื่อไม่ให้ชีวิตตัวเองติดลบ หรือใช้เงินเกินตัวมากไป คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะสนใจประเภท อาหาร เครื่องดื่ม เพื่อให้รางวัลกับตัวเอง ไม่ได้มีแนวคิดว่า ของต้องมีต้องโชว์
กลุ่มที่ 3 ‘หรูเจียมตัว’ ราว 24% เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรู แต่ชอบเป็นครั้งคราว คิดวางแผนทางการเงินมากขึ้น คิดก่อนซื้อมากขึ้น มีการพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยจะแบ่งเงินจากรายรับ มาเก็บออมก่อนทุกครั้ง ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีเงินออมระดับ ‘ปานกลาง’
กลุ่มที่ 4 ‘หรูได้มีสติด้วย’ ราว 6% คนกลุ่มนี้ มองหาความคุ้มค่าในการซื้อสินค้าหรู เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง และเงินออมมากกว่า 5 ปี ทุกครั้งก่อนที่จะซื้อสินค้าหรู จะคิดค่อนข้างนาน ใช้เวลา ไม่ด่วนตัดสินใจ และใช้เวลาไปกับการค้นหาโปรโมชั่น หรือสิทธิประโยชน์เพื่อให้ได้ความคุ้มค่าสูงสุด
กลุ่มที่ 5 ‘หรูลูกคุณ’ 2% เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูได้แบบ ไม่จำกัด มีเงินออมสูง เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย สามารถใช้จ่ายสินค้าหรูหราได้อย่างไม่ต้องกังวล
ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด CMMU กล่าวถึงภาวะในปัจจุบันที่คนไทยหันมาให้ความสนใจสินค้าหรูหรา ราคาแพง และบริการระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้น เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นการบริโภคแบบ “ติดหรู ดู luxurious” ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เกิดเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจ เพราะ ถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก ผู้คนก็ยังจะพยายามหารางวัลให้กับชีวิต และตอบโจทย์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยความหรูนั้นไม่ได้อยู่แค่ในสินค้าแบรนด์เนม แต่ยังแฝงอยู่ในสินค้าหมวดหมู่อื่น ๆ ทั้ง กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเครื่องสำอางสกินแคร์ กลุ่มอุปกรณ์เทคโนโลยี แม้กระทั่งกลุ่มของสะสมต่าง ๆ อย่างเช่น Art Toys ของ POP MART
“ผู้คนยอมจ่ายสินค้าในราคาสูงเกินความเป็นจริง เพื่อให้ได้มาครอบครอง กลยุทธ์การตลาดและการโฆษณาผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการระดับพรีเมียม เพื่อสะท้อนถึงภาพลักษณ์ ความสุข ความสำเร็จ และการเป็นที่ยอมรับในสังคม ส่งผลให้ตลาดสินค้าหรูในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว”
‘ผู้ชาย’ เป็นกลุ่มที่ติดหรู มากกว่า ‘ผู้หญิง’ โดยประเภทสินค้าที่ผู้ชายติดลักซ์ซื้อบ่อยที่สุด คือ อุปกรณ์เทคโนโลยี ส่วนผู้หญิงสิ่งที่ซื้อบ่อยที่สุด คือ อาหาร และเครื่องดื่ม
แบรนด์หรูราคาสูงระหว่างหญิงกับชาย ซื้ออะไรกัน และแบรนด์ไหนคือแบรนด์โปรด?
คำตอบ คือ Apple (กลุ่มอุปกรณ์เทคโนโลยี), Louis Vuitton (กลุ่มเครื่องแต่งกาย และแฟชั่น) และ Starbucks (กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม) สำหรับผู้ชาย
ส่วนผู้หญิงนั้นเทใจไปให้ Starbucks (กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม), Dior (กลุ่มเครื่องสำอาง/น้ำหอม/สกินแคร์) และ Dior (กลุ่มเครื่องแต่งกาย และแฟชั่น)
ส่วนเจเนเรชั่นที่ติดแกรมแบบสุด ๆ แม้หลายคนจะเถียงว่าไม่เกี่ยว แต่ในแง่ของความเชื่อ และสังคมการเติบโต ปรากฎว่า ‘Gen X’ เป็นกลุ่มที่มีความสนใจในสินค้าหรูหรามากที่สุดเมื่อเทียบกับเจนอื่น ๆ ตามมาด้วย Gen Z, Gen Y และ Baby Boomer












