๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
วันนี้เมื่อ ๑๙๖ ปีก่อน เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินในครั้งนี้ ก็ถือเป็นการผลัดแผ่นดินออกนอกสายตรง วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗ เป็นวันผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน รัชกาลที่ ๒ ไปสู่แผ่นดินรัชกาลที่ ๓ เมื่อปี ๒๓๖๗
เมื่อพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ประชวรใกล้สวรรคต พระองค์มิได้มีรับสั่งเป็นการเฉพาะเจาะจงผู้หนึ่งผู้ใดเป็นองค์รัชทายาทขึ้นครองราชสมบัติ แต่มักจะตรัสเป็นนัยหรือวางตัวไว้ก่อน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการชี้ไปยังผู้หนึ่งผู้ใด อันตรายอาจตกแก่พระองค์นั้นได้ เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ หากอาศัยธรรมเนียมแห่งราชประเพณี ราชสมบัติย่อมตกกับ “เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔)” เพราะทรงเป็นโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติจากสมเด็จพระบรมราชินี แต่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงขาดทั้งกำลังและผลงานโดยยังไม่เคยทรงงานใหญ่มาก่อน และยังขาดขุนนางที่มีอิทธิพลในการสนับสนุน
ผู้ที่มีทั้งกำลังทั้งผลงานและมีผู้สนับสนุน คือ “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓)” (ทรงมีพระชนมายุมากกว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ ๑๗ ปี) ด้วยทรงรอบรู้กิจการบ้านเมืองเป็นอย่างดี ทรงปราดเปรื่องในเรื่องต่าง ๆ กับทั้งพระองค์ทรงเป็นผู้มีน้ำพระทัยจนเป็นที่รักใคร่นับถือแก่คนทั่วไป กับทั้งในช่วงนั้น บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ยังคงมีศึกสงครามอยู่เนือง ๆ แม้จะขาดความชอบธรรมทางราชประเพณี แต่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจในขณะนั้น ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าขุนนาง (โดยเฉพาะตระกูล “บุนนาค” ที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก) ต่างพิจารณาเห็นควรถวายราชสมบัติให้แก่พระองค์ จึงพร้อมใจกันอัญเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นครองราชสมบัติ ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๓๗ พรรษา
การสืบราชสมบัติครั้งนี้ถือเป็นการออกนอกสายตรงไประยะเวลาหนึ่ง และทำให้ ๓ รัชกาลแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้มีพระราชชนนีเป็นเจ้ามาแต่กำเนิด ๕ ใน ๑๐ รัชกาล เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชชนนีมาจากสามัญชน ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎ รัชกาลที่ ๔ ทรงผนวชอยู่ ทรงตัดสินพระทัยที่จะผนวชต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นการกีดขวางราชการแผ่นดิน และที่สำคัญคือไม่ให้เกิดปัญหาตามมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ ทรงมีพระนามว่า “...พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยดโรมน สากลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีสุวิบูลย คุณอถพิษฐ ฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชาธิราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิ มงกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว...”
เหตุการณ์นี้นับเป็นการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินครั้งที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์ทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎและทรงถือไว้ ไม่ทรงสวมลงบนพระเศียร จากการบันทึกพระองค์ตรัสว่า “...มารับพระราชภารกิจนี้เพราะความจำเป็น มงกุฎนี้ไม่ใช่ของพระองค์...” โดยรัชกาลที่ ๓ ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสิ้นรัชกาลพระองค์แล้วจะพระราชทานราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้ามงกุฎ เดิมคนสมัยก่อนมักเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดินต้น” และเรียกรัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินกลาง” เหตุเพราะพระนามในพระสุพรรณบัฏเหมือนกัน รัชกาลที่ ๓ จึงไม่โปรดให้ใช้ตามอย่าง เพราะจะทำให้ราษฎรเรียกรัชกาลที่ ๓ ว่า “แผ่นดินปลาย” ซึ่งดูไม่เป็นมงคล
จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระพุทธรูปขึ้น ๒ องค์ ทรงให้จารึกพระนามองค์ทีั่ ๑ ว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และองค์ที่ ๒ ว่า “พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย” และมีพระราชโองการให้ใช้นามแผ่นดินตามนามพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์นี้