พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) หรือรู้จักในนาม “พุทธทาสภิกขุ”
พุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อปี ๒๔๔๙ เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาพุทธได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น “พุทธทาส” เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด
คำสอนอันโดดเด่นของท่านคือเรื่อง “การปล่อยวาง” ผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่านคืองานนิพนธ์ชุด “ธรรมโฆษณ์” และงานนิพนธ์อีกไม่น้อยกว่า ๓๕๐ เล่ม ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับการสดุดีว่าเป็นมหาปราชญ์แห่งพุทธธรรมทางบูรพาทิศ ที่มีเกีตรติคุณไม่น้อยไปกว่าท่านนาคารชุน ปราชญ์ใหญ่ฝ่ายมหายานในอดีต ปัญญาชนทั้งไทยและต่างประเทศถือว่า ท่านเป็นนักปฏิรูปพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดรูปหนึ่งของเมืองไทย
ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชชัยกวี พระเทพวิสุทธิเมธี และพระธรรมโกษาจารย์ ตามลำดับ นอกจากนี้มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปกร มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาวิชาต่าง ๆ แด่ท่านอีกด้วย
นอกจากนี้พระพุทธทาสภิกขุ ยังได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระชาตกาลครบ ๑๐๐ ปี ขององค์การยูเนสโกด้วย
พุทธทาสภิกขุ ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สิริรวมอายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านรับมรดกความเป็น “พุทธทาสภิกขุ”
ภาพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และ “พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาสภิกขุ)” ในวาระโอกาสที่เสด็จมาเยือนสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๒
“...ขอประทานกราบสมเด็จพระสังฆราชหน่อยที่อุตส่าห์เสด็จมาเยี่ยมถึงวัด เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงพยายามห้าม แต่ท่านไม่ยอม แล้วต่างคนก็ต่างกราบ พอท่านพุทธทาสกราบ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็บอกไม่ได้ ๆ ต้องกราบกลับ...”