นักวิจัยพบ 'เขียดงู' สิ่งมีชีวิตที่เหมือนหนอนยักษ์ในป่าฝนบราซิล มีต่อมพิษในช่องปาก
เชื่อว่าหลายๆคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของ 'เขียดงู' (Caecilians) สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีลักษณะลำตัวเรียวยาวคล้ายงูหรือปลาไหล มีทั้งอาศัยอยู่บนบก ในโพรงดิน และในน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการค้นพบเขียดงูประมาณ 200 ชนิด และในประเทศไทยล้วนแต่พบเฉพาะในวงศ์นี้ราว 7 ชนิด เช่น เขียดงูดำ (Caudacaecilia larutensis), เขียดงูเกาะเต่า (Ichthyophis kohtaoensis), เขียดงูดอยสุเทพ (I. youngorum) เป็นต้น
เมื่อไม่นานมานี้สื่อต่างประเทศได้รายงานการค้นพบครั้งสำคัญเกี่ยวกับ เขียดงู ที่ค้นพบในป่าฝนบราซิล ว่าอาจเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีพิษ ทั้งนี้ 'เขียดงู' หรือ Caecilians เป็นกลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งมักเข้าใจผิดว่าเป็น 'งู' อยู่บ่อยๆ
แต่อย่างไรก็ดี นักชีววิทยาของสหรัฐอเมริกาและบราซิล ได้ตรวจพบพบต่อมพิษในปากของเขียดงูเป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้ามีการค้นพบว่ามีหางของเขียดงูสามารถปล่อยสารหล่อลื่นคล้ายเมือก ซึ่งทำให้พวกมันสามารถดำลงใต้ดินได้อย่างรวดเร็วเพื่อหลบหนีผู้ล่า
แต่ในตอนนี้พวกเขาพบต่อมพิษเล็กๆในปากของเขียดงูที่เต็มไปด้วยของเหลว โดยเฉพาะในขากรรไกรบนและล่าง ซึ่งต่อมพิษนี้จะทำให้เหยื่อไร้ความสามารถในการหลบหนีได้ เช่น เมื่อพวกมันใช้ปากกัดลงไปบนตัวของกบและกิ้งก่า เป็นต้น
ทั้งนี้ นักวิจัยคิดว่า เขียดงู สายพันธุ์ Siphonops annulatus น่าจะเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มแรกในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่ได้มีการพัฒนาระบบการฉีดพิษผ่านฟัน และเขียดงูสายพันธุ์มีพิษนี้ถูกพบแพร่กระจายไปทั่วทางตะวันออกของเทือกเขาแอนดี รวมไปถึงอาร์เจนตินา , โบลิเวีย , โคลอมเบีย , เอกวาดอร์ , เฟรนช์เกีย , กายอานา , ปารากวัย , เปรู , ซูรินาเม แม้ว่าก่อนหน้าจะมีการค้นพบแค่ในบราซิลก็ตาม
เขียดงู สายพันธุ์ Siphonops annulatus มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวเป็นปล้องๆ มีสีฟ้าอมน้ำเงิน หางมีขนาดเล็กมากหรือไม่มีเลย และมีความยาวเฉลี่ย 11.3–17.7 นิ้ว และยังคงเป็นเขียดงูสายพันธุ์เดียวที่ตรวจพบว่ามีต่อมพิษในช่องปากอีกด้วย