พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ผู้ก่อตั้ง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่
วันนี้ในอดีต ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๗ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ผู้ก่อตั้ง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่
ได้นำเบียร์สิงห์ที่ต้มกลั่นจวนได้ที่ ออกเผยแพร่ครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญของสโมสรคณะราษฎร ซึ่งตรงกับ ๒ ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ๒๔๗๕ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย พระยาภิรมย์ภักดี เล็งเห็นว่าสยามในขณะนั้นยังไม่มีเบียร์ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ กำไรจากการจำหน่ายเบียร์นับแสนขวดที่ขายได้ในเมืองไทยจึงไหลออกไปต่างประเทศทั้งหมด ระยะเวลานั้น พระยาภิรมย์ภักดี ได้พบมิสเตอร์ไอเซนโฮเฟอร์ ผู้จัดการห้างเพาส์ปิกเคนปัก และได้ลิ้มรสเบียร์เยอรมันแล้วถูกใจ และคิดว่าน่าจะทำขายในเมืองไทยได้ จึงได้ยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทย ในปี ๒๔๗๔ “บุญรอด” จดทะเบียนเป็น “บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด” ด้วยทุน ๖ แสนบาท เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๗๖ โดยในระหว่างการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการก่อสร้าง พิธีเปิดป้ายบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ เกิดขึ้นในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๗ โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระปิตุลาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีและทรงเปิดป้ายชื่อบริษัท บริษัทบุญรอดฯ เปิดตัวเบียร์ยี่ห้อโกลเด้นไคท์และสิงห์ ขายราคาขวดละ ๓๒ สตางค์ ด้วยความเพียรพยายามของพระยาภิรมย์ภักดี บริษัทฯ สามารถครองตลาดเบียร์ได้ถึงร้อยละ ๔๐ หลังก่อตั้งบริษัทได้หนึ่งปีครึ่ง พระยาภิรมย์ภักดี ผู้สร้างตำนานเบียร์แห่งแรกของประเทศไทย เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๓ สิริอายุ ๗๗ ปี ขอบพระคุณ หนังสือ สิงห์ปกรณัม นิตยสารสารคดี ฉบับมิถุนายน ๒๕๔๓