พระธาตุท่าอุเทน
ตามประวัติที่จารึกไว้ที่กำแพงพระธาตุกล่าว ท่านอาจารย์สีทัตถ์ ได้เป็นหัวหน้า ชักชวนพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาร่วมกัน ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พระพุทธสังกาดได้ ๒๔๕๐๓ พระวัสสา (เขียนตามตัวจารึก) ตรงกับ ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ปีที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ใช้เวลาทั้งสิ้น ๖ ปีจึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๐๙ (ลอกลักษณะการเขียนตามตัวในจารึก) (พ.ศ.๒๔๕๙) ปีที่ ๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เช่นเดียวกัน
พระธาตุท่าอุเทนมีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยม จำลองแบบมาจากพระธาตุพนม แต่มีขนาดเล็กและสูงกว่าพระธาตุพนม บริเวณฐานและชั้นเรือน ธาตุมีลายปูนปั้นงดงาม ภายในองค์พระธาตุมี ๒ ชั้น ชั้นแรกก่อเป็นอุโมงค์บรรจุพระพุทธสารีริกธาตุ ซึ่งท่านอาจารย์สีทัตถ์อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ่ง ประเทศพม่า รวมทั้งมีพระพุทธรูปและของมีค่าต่าง ๆที่ผู้มีจิตศรัทธาได้นำมาบรรจุไว้ด้วย ขั้น ๒ ก่อครอบอุโมงค์ สูงประมาณ ๕ วา (๑๐ เมตร)
ลักษณะและลวดลายน่าจะใกล้เคียงกับพระธาตุพนมเพราะช่างท่าอุเทนคงจะถอดแบบมาให้เหมือนกัน เพียงแต่ฝีมือการก่อสร้างคนละยุคสมัยจึงมีความต่างกัน รวมทั้งได้จารึก ปีที่ก่อสร้างจนถึงปีที่สร้างเสร็จ รวมทั้งผู้บริจาคเงินสร้างวัดต่าง ๆ ไว้ด้านหน้าพร้อมคำบูชาพระธาตุท่าอุเทนด้วย นับเป็นพระธาตุที่มีหลักฐานการก่อสร้าง ชัดเจน องค์หนึ่ง
ด้านหลังมีกุฎิที่จำพรรษาของพระอาจารย์สีทัตถ์ เป็นกุฎิไม้ ยังคงรักษาไว้ แต่ก็นับวันจะทรุดโทรมลง น่าที่จะขึ้นทะเบียนรักษาไว้ให้เป็นโบราณสถานที่เล่าเรื่องได้อีกแห่งหนึ่งของ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ประเทศไทย เพราะนับวันแต่จะมีแต่สิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเกรงว่า จะถูกรื้อทิ้งไปในที่สุด...โบราณสถานแห่งนี้ อายุถึงปัจจุบัน ๑๐๕ ปี แล้ว คงไม่มีปัญหาถ้าจะประกาศขึ้นทะเบียน