พระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) เจ้าเมืองมหาสารคามคนสุดท้าย (องค์ที่ ๔)
ภาพพระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) เจ้าเมืองมหาสารคามคนสุดท้าย (องค์ที่ ๔) และเป็นผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามท่านแรก กับอัญญาแม่ศรีสุมาลย์ (อัญญานางศรีสุมา) ภริยา ธิดาองค์สุดท้องในพระเจริญราชเดช (กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) เจ้าเมืองคนเเรก
#ราชตระกูล พระเจริญราชเดช (อุ่น) มีนามเดิมว่า เจ้าอุ่น หรือ ท้าวอุ่น เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ เป็นบุตรในเจ้าอุปฮาด (บัวทอง) หรือท้าวพานทอง เจ้านายในคณะอาญาสี่เมืองมหาสารคาม อดีตอัคคฮาดเมืองมหาสารคาม เป็นพระนัดดาในเจ้าอุปฮาด (ภู) เจ้านายในคณะอาญาสี่เมืองร้อยเอ็ด กับญาแม่ปทุมมา เป็นพระปนัดดาในเจ้าราชวงศ์ (หล้า) เจ้านายในคณะอาญาสี่เมืองร้อยเอ็ด ญาแม่ปทุมมาผู้เป็นย่าของพระเจริญราชเดช (อุ่น) เป็นพี่สาวร่วมพระมารดากับพระพิชัยสุริยวงศ์ (ท้าวตาดี) หรือเจ้าโพนแพงเจ้าเมืองโพนพิสัย ต้นราชตระกูลสืบเชื้อสายมาจากเจ้าแก้วมงคล (แก้วบรม) ปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว ซึ่งเป็นเจ้านายจากราชวงศ์ล้านช้างผู้สร้างเมืองท่งศรีภูมิ
#สมรส ท้าวอุ่นได้สมรสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ กับอัญญาแม่ศรีสุมาลย์ (อัญญานางศรีสุมา) ธิดาองค์สุดท้องในพระเจริญราชเดช วรเชษฐ์มหาขัติยพงศ์ รวิวงศ์สุรชาติประเทศราชธำรงรักษ์ ศักดิ์กิติยศเกรียงไกรศรีพิชัยเทพวรฤทธิ์ พิศนุพงศ์ปรีชาสิงหบุตรสุวัฒนา นคราภิบาลชาญพิชัยสงคราม (กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง กับอัญญานางแดง หรือญาแม่โซ่นแดง ธิดาหลวงโภคา (จีนนอก) เมืองมหาสารคาม อนึ่ง ในบันทึกหลวงอภิสิทธิ์สารคาม (ดี) บันทึกประวัติเมืองมหาสารคามของพระเจริญราชเดช (อุ่น) และบันทึกประวัติศาสตร์ภาคอีสานและเมืองมหาสารคามของนายบุญช่วย อัตถากร กล่าวว่า เจ้าอุปฮาด (บัวทอง) บิดาในพระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้พาผู้คนจำนวนหนึ่งแยกไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านลาด ริมลำน้ำชี (ปัจจุบันคือบ้านลาดพัฒนา ตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม) ตามที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสม และได้เคยเสนอให้ตั้งเป็นเมืองมหาสารคามแห่งแรกด้วย ฝ่ายท้าวมหาชัย (กวด) ไม่เห็นด้วย เจ้าอุปฮาด (บัวทอง) จึงตั้งเป็นเมืองต่างหากจากเมืองมหาสารคาม ห่างจากบ้านกุดนางใยที่ตั้งเมืองมหาสารคามประมาณ ๒๐๐ เส้น
#พี่น้อง พระเจริญราชเดช (อุ่น) มีพี่น้องทั้งหมด ๗ ท่าน คือ เจ้าราชบุตร (ช้าง) อัญญานางอบ เจ้าอุปฮาด (ผา) พระเจริญราชเดช (อุ่น) อัญญานางจอม อัญญานางหนู อัญญาท้าวสุวัฒน์
#การศึกษา เมื่อครั้งท้าวอุ่นมีอายุ 4 ขวบ ได้ติดตามเจ้าอุปฮาด (บัวทอง) ผู้เป็นพระบิดาลงไปกรุงเทพมหานครด้วยเรื่องราชการงานเมือง ต่อมาได้เล่าเรียนหนังสือไทย ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ตามธรรมเนียมเจ้านายหัวเมืองลาวที่มักส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาวิชาการปกครองจากราชสำนักสยาม เมื่อศึกษาหนังสือไทยจนอายุได้ 16 ปี ราว พ.ศ. 2412 - 2419 จึงได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมและรับแต่งตั้งเป็นมหาดเล็กหลวงในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ท้าวอุ่นเป็นผู้มีความรู้หลากหลายสาขา และสามารถพูดภาษาอังกฤษใช้ได้ ภายหลังเมื่อเจ้าอุปฮาด (บัวทอง) ป่วยหนัก ท้าวอุ่นจึงขอกลับจากกรุงเทพมหานครมาดูแลพระบิดา และได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดเหนือ หรือวัดมหาชัย เมืองมหาสารคาม ซึ่งเป็นวัดที่พระเจริญราชเดชวรเชษฐ์มหาขัติยพงศ์ (กวด), นางเจริญราชเดช (อัญญาแม่โซ่นแดง), คณะกรมการเมืองท้าวเพี้ยเมืองมหาสารคาม และพระครูสุวรรณดี ร่วมกันสร้างขึ้นแต่เมื่อครั้งตั้งเมืองมหาสารคาม
#ขึ้นเป็นเจ้าเมือง ใน พ.ศ. 2419 ท้าวอุ่นได้รับแต่งตั้งเป็นที่ ท้าวโพธิสาร หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองวาปีปทุมและเมืองโกสุมพิสัยขึ้น ต่อมาใน พ.ศ. 2425 ท้าวโพธิสาร (อุ่น) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นที่ พระพิทักษ์นรากร เจ้าเมืองวาปีปทุมองค์ที่ ๒ ต่อจากพระพิทักษ์นรากร (บุญมี) เจ้าเมืองวาปีปทุมองค์แรก ราชทินนามที่พิทักษ์นรากรนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คล้องจองกับราชทินนามที่สุนทรพิพิธ ของพระสุนทรพิพิธ (เสือ) เจ้าเมืองโกสุมพิสัยองค์แรก ซึ่งตั้งเมืองขึ้นพร้อมกัน ในปี พ.ศ. 2432 เจ้าอุปฮาดผู้รักษาราชการเมืองสุวรรณภูมิ มีใบบอกกล่าวโทษมาถึงเมืองมหาสารคาม เมืองสุรินทร์ และเมืองศรีสะเกษ ว่าแย่งเอาเขตของเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งเป็นเมือง เฉพาะเมืองมหาสารคามนั้นถูกกล่าวหาว่าขอเอาบ้านนาเลาตั้งเป็นเมืองวาปีปทุม เจ้าแผ่นดินสยามได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์และข้าหลวงอุบลราชธานีทำการไต่สวนว่ากล่าวในเรื่องนี้ แต่เมืองเหล่านี้ได้ตั้งมานานแล้วรื้อถอนไม่ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองวาปีปทุมเป็นเมืองขึ้นของเมืองมหาสารคามต่อไปตามเดิม โดยมิได้โยกย้ายออกจากหนองแซงแต่ประการใด พ.ศ. 2435 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายรองชิต (เลื่อง ณ นคร) และจมื่นศรีบริรักษ์ มาเป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองมหาสารคามและเมืองร้อยเอ็ดเป็นครั้งแรก โดยตั้งที่ทำการอยู่ ณ เมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2437 ทางการได้โอนเมืองชุมพลบุรีจากเมืองสุรินทร์มาขึ้นแก่เมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2440 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ขึ้นเพื่อวางระเบียบแบบแผนการปกครองท้องถิ่นให้เรียบร้อย เวลานั้นมณฑลอีสานยังมิได้จัดการปกครองให้เป็นไปอย่างมณฑลอื่น ต่อมา พ.ศ 2443 พระเจริญราชเดช (ฮึ่ง หรือ ฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคามองค์ที่ ๒ ได้ถึงแก่กรรมลง ทางเมืองมหาสารคามจึงตั้งให้พระอุปฮาด (เถื่อน รักษิกจันทร์) รักษาราชการแทนเจ้าเมือง ทางราชการได้ยุบเมืองชุมพลบุรีเป็นอำเภอ แล้วโอนกลับไปขึ้นเมืองสุรินทร์ตามเดิม อีกทั้งทรงโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งหัวเมืองมณฑลอีสานออกเป็นบริเวณ 5 บริเวณ โดยให้เมืองมหาสารคามขึ้นแก่บริเวณร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคามได้จัดการแบ่งเขตเมืองตั้งขึ้นเป็นอำเภอคือ อำเภออุทัยสารคาม อำเภอประจิมสารคาม ส่วนเมืองวาปีปทุม และเมืองโกสุมพิสัย นั้นยังคงให้เป็นเมืองขึ้นของเมืองมหาสารคามตามเดิม และได้ให้เปลี่ยนเป็นอำเภอในปีนี้เช่นเดียวกัน ต่อมา พ.ศ. 2444 หลังจากฝ่ายสยามได้ยุบเมืองวาปีปทุมลงเป็นอำเภอแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) เจ้าเมืองวาปีปทุม ให้มาเป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองมหาสารคาม แทนพระสิทธิศักดิ์สมุทเขต (บุษย์) ที่ถึงแก่กรรมไปก่อนหน้า ฝ่ายพระพิทักษ์นรากร (อุ่น) ได้สร้างโฮงที่ประทับหรือหอโฮงการสำหรับสำเร็จราชการเมืองขึ้นที่เมืองมหาสารคาม และนับเป็นโฮงเจ้าเมืองหลังที่ ๓ ของเมืองมหาสารคาม ชาวบ้านเรียกว่า โฮงญาพ่อหลวง เป็นอาคารไม้โบราณขนาดใหญ่ ๒ ชั้นทาสีแดง ตั้งอยู่เยื้องกับโฮงญาหลวงเฒ่า ซึ่งเป็นโฮงที่ประทับหรือหอโฮงการของพระเจริญราชเดช (ฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคามองค์ก่อน พ.ศ. 2446 สยามได้ยุบตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองมหาสารคามลง ต่อมาในวันที่ 29 เมษายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2446) ศกเดียวกันนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) เป็นที่พระเจริญราชเดช ผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามท่านแรก ในบรรดาศักดิ์และราชทินนามเจ้าเมืองมหาสารคามองค์ก่อน เหตุด้วยตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามนั้นว่างลงแต่เมื่อครั้งพระเจริญราชเดช (ฮึง) ถึงแก่กรรมลงไป พ.ศ. 2447 พระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้ตัดถนนเพิ่มเป็น 2 สายในตัวเมืองมหาสารคาม สร้างศาลาการเปรียญและพระอุโบสถวัดนางใย เมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2449 พระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดท่าแขกหรือวัดโพธิ์ศรี และวัดทุ่งหรือวัดนาควิชัย พ.ศ. 2455 ปลายปี เจ้าแผ่นดินสยามโปรดเกล้าฯ ให้พระเจริญราชเดช (อุ่น) ออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองด้วยชราภาพและสูงอายุ แล้วแต่งตั้งพระเจริญราชเดช (อุ่น) เป็นที่กรมการเมืองพิเศษคอยให้คำปรึกษาราชการงานเมืองมหาสารคามตามสมควรแก่ฝ่ายปกครองตลอดอายุขัย ต่อมาสยามได้ให้หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ อดีตปลัดมณฑลประจำจังหวัดมหาสารคาม มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามในต้นปี พ.ศ. 2456 ต่อมา พ.ศ. 2457 พระเจริญราชเดช (อุ่น) กรมการเมืองพิเศษเมืองมหาสารคาม มณฑลร้อยเอ็จ ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลหัวเมืองอีสานที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย
#อนิจกรรม พระเจริญราชเดช (อุ่น) ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังปฏิรูปการเมืองการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลได้ ๑๘ ปี สิริรวมอายุได้ ๖๑ ปี รับราชการมาด้วยความสงบเรียบร้อย ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองวาปีปทุมรวมได้ ๒๐ ปี ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามรวมได้ ๑๒ ปี