ถนนสุรวงศ์
“ถนนสุรวงศ์” เป็นถนนที่ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสีหราชเดโชชัย ได้ซื้อที่ดินและกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัดถนนขึ้นสองสายผ่านที่ดินดังกล่าว โดยถนนสายหนึ่ง “แยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปมีสะพานข้ามคลองวัวลำพองตกศีศะลำโพงมีสพานข้ามตรง ถนนสระปทุมวัน” อีกสายหนึ่ง แยกจากถนนสายแรกไปทางตะวันออก มีสะพานข้ามข้ามคลองจดถนนสีลม และได้มอบหมายให้ ท่านผู้หญิงตลับสีหราชเดโช ภริยา กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนจาก สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ขณะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินใน พ.ศ. ๒๔๔๐ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือน ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป โดยมีพระยาสีหราชเดโชชัยตามเสด็จพระราชดำเนินด้วย สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนสายแรกว่า “ถนนสุรวงษ์” ส่วนถนนสายที่แยกจากถนนสุรวงศ์ไปทางตะวันออกจนถึงถนนสีลม พระราชทานนามว่า “ถนนเดโช” และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานรับถนนทั้งสองสายนี้เป็นถนนหลวงสำหรับพระนครเพื่อให้เจ้า พนักงานรักษาและซ่อมแซมเหมือนถนนหลวงทั่วไป ดังปรากฏในประกาศพระราชทานนามถนน เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๖
อย่างไรก็ตาม ปรากฏหลักฐานสมัยรัชกาลที่ ๗ ว่า ถนนสุรวงศ์ ได้มีการเรียกชื่อเป็น “ถนนสุริวงศ์” โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ ทรงทักท้วงในที่ประชุมเสนาบดีเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ขณะที่ประชุมกำลังพิจารณา “ร่างพระราชกฤษฎีกาตัดถนนต่อจากถนนสุริวงศ์ไปจดริมแม่น้ำเจ้าพระยา” ว่า “สุริวงศ์” ไม่เป็นภาษา และมีพระดำริว่าควรเป็นสุรวงศ์ เพราะ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) เป็นผู้ตัดถนนสายนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชกระแสว่า ถ้าจะเป็นสุริวงศ์ก็ต้องสะกดเป็น “สุริยวงศ์” จึงจะถูกต้องตามภาษา หรือมิฉะนั้นก็ต้องแก้ไขเป็น “สุรวงศ์” และในที่สุดที่ประชุมเสนาบดีได้แก้ไขชื่อถนนสุริวงศ์เป็น “ถนนสุรวงศ์”
แต่ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงมีหนังสือแจ้งต่อ มหาเสวกเอกเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ราชเลขาธิการว่า หลังจากการประชุมเสนาบดีสภาแล้ว ทรงระลึกได้ว่า เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ตัดถนนสุรวงศ์ขณะยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา สีหราชเดโชชัย โดยตัดถนนสายนี้พร้อมกับถนนเดโช และทรงสันนิษฐานว่าควรเป็นชื่อถนนสุริวงศ์ เพราะเมื่อยังไม่มีนามสกุลนั้น ในการติดต่อกับชาวต่างชาติได้มีการนำนามของบิดามาใช้เป็นนามสกุล และทรงเคยทราบว่า เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ขณะศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ได้เคยเซ็นนามว่า “โต สุริวงศ์” ทรง สันนิษฐานว่าอาจนำนามบรรดาศักดิ์ของ “เจ้าพระยาสุริยวงศ์วัยวัฒน์ (วร บุนนาค)” ผู้เป็นบิดา หรือนามบรรดาศักดิ์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้เป็นปู่มาใช้เป็นนามสกุล และทรงเคยได้ยินฝรั่งรุ่นเก่า ๆ เรียกตระกูลลูกหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่า “The Surivongs Family” และทรงอ้างว่าพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) เมื่อยังไม่มีบรรดาศักดิ์ ก็เคยเซ็นนามว่า “เตี้ยม สุริวงศ์” จึงทรงเข้าพระทัยว่าเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ตั้งใจให้ชื่อถนนนี้ตามนามซึ่งสมมุติใช้เป็นนามสกุลในขณะที่ยังไม่มีพระราช บัญญัตินามสกุล และประชาชนได้เรียกชื่อถนนนี้ว่า ถนนสุริวงศ์ มา ๓๐ ปีแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงเสนอว่า ควรใช้ชื่อถนนสายนี้ว่า ถนนสุริวงศ์ และแก้ตัวสะกดการันต์เป็น “ถนนสุริยวงศ์” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสให้แก้ไขชื่อถนนสุรวงศ์เป็น “ถนนสุริยวงศ์